ถ่ายภาพฝนดาวตกอย่างไร ให้ได้ศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตก

ในคอลัมนี้อยากชวนมาถ่ายฝนดาวตกกันในแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกัน ซึ่งจะช่วยให้ได้ภาพถ่ายฝนดาวตกที่เห็นการกระจายตัวได้อย่างชัดเจน โดยในคืน 13 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2563 นี้ จะเกิดฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืน คาดการณ์มีอัตราการตกสูงสุด 150 ดวงต่อชั่วโมง

001

ภาพแสดงศูนย์กลางการกระจายตัวของปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมิ มีจุดศูนย์กลางการกระจาย อยู่บริเวณดาวพอลลักซ์ (Pollux) และดาวคาสเตอร์ (Castor) 

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec / WB : 3800K / Composite image 32 Images)

 

          ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหิน และเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball) และหากเกิดการระเบิดกลางท้องฟ้า จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

 

002

ภาพจำลองจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ฝนดาวตกเจมินิดส์ บริเวณหัวของกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับดูฝนดาวตก

          ในการดูฝนดาวตกนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ และนอกจากนั้นในช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ทำให้มีโอกาสได้เห็นดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันอีกด้วย

          สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ ช่วงประมาณเที่ยงคืนตำแหน่งกลุ่มดาวคนคู่จะอยู่กลางท้องฟ้าพอดีทำให้ถ่ายภาพดาวตกได้ง่าย จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่อยากถ่ายภาพฝนดาวตก

 

003

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยการตั้งกล้องถ่ายภาพแบบติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยขาตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาว โดยเริ่มต้นถ่ายตั้งแต่ช่วงเวลา 21.30 -01.30 น.

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec x 26 Images)

 

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตก

 

  1. กล้องดิจิตอล เลนส์มุมกว้าง และสายลั่นชัตเตอร์

 004

          กล้องดิจิตอลที่สามารถใช้ความไวแสง (ISO) ได้สูงๆ จะมีข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพฝนดาวตก ซึ่งสามารถเก็บแสงฝนดาวตกได้ดี

 

  1. เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง) ได้เปรียบเก็บแสงได้ดีกว่า

 005

 

              ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

  1. อุปกรณ์ตามดาวและขาตั้งกล้องที่มั่นคง

 006

 

            อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง

          ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

  1. แถบความร้อนกันฝ้าหน้ากล้อง

 007

 

          เนื่องจากต้องถ่ายภาพตลอดทั้งคืน กล้องมีโอกาสสูงที่จะเกิดไอน้ำเกาะหน้าเลนส์ หรือกล้องขึ้นฝ้า ดังนั้น การติดแถบความร้อนไว้หน้าเลนส์จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับภาพฝนดาวตกที่ต้องถ่ายต่อเนื่องหลายชั่วโมง ทั้งนี้สามารถทำเองได้ โดยมีรายละเอียดวิธีการทำตามลิงก์ : https://bit.ly/33XjVHx

 

  1. ไฟฉายแสงสีแดง

 008

 

          ไฟฉายแบบคาดหัวสีแดง นอกจากจะสะดวกในการหยิบจับอุปกรณ์ต่างแล้ว แสงสีแดงยังเป็นแสงที่จะรบกวนสายตาเราน้อยที่สุด ทำให้เราสามารถปรับการมองเห็นได้เร็วกว่าเมื่อมองออกไปยังที่มืดบนท้องฟ้า สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านอุปกรณ์เดินป่า แต่ตอนซื้อก็อย่าลืมเช็คดูก่อนว่าเป็นหลอดไฟสีแดงด้วยนะครับ

 

เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพ

  1. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่าที่กล้องเราสามารถถ่ายภาพได้โดยที่ภาพยังคงมีคุณภาพที่ดี (ยิ่งกล้องมีความไวแสงมาก ก็จะมีโอกาสบันทึกภาพดาวตกได้ดี)
  2. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก
  3. เวลาเปิดหน้ากล้อง ควรใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้อง
  4. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก
  5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
  6. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตก หรือจุดเรเดียน (Radiant) โดยให้จุดเรเดียนอยู่กลางภาพ
  7. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

 

009

ตัวอย่างภาพถ่ายฝนดาวตกด้วยวิธีตามดาว จากภาพตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่าเป็นการถ่ายภาพบริเวณจุดเรเดียน (Radiant) ทุกภาพ และจะสังเกตเห็นว่า ดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณนี้