สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 9 กรกฎาคมนี้ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึง     รุ่งเช้า หากสภาพอากาศเป็นใจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมชวนส่องดาวเสาร์ “ราชาแห่งวงแหวน” อย่างเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่งที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา และโรงเรียนเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ

pr20190701 2 01

        นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่าในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) คือ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์เรียงตัวอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันตามลำดับ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี  ห่างประมาณ 1,351 ล้านกิโลเมตร (9.03 AU) ตรงกับเวลาประมาณ 23:53 น. (ตามเวลาประเทศไทย)  ในวันดังกล่าว ขณะดวงอาทิตย์ลับของฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฎพ้นขอบฟ้าตรงข้ามกับพอดี หากฟ้าใสไร้ฝน จะสังเกต  ดาวเสาร์ได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า 

pr20190701 2 02

        นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ดาวเสาร์จะปรากฏเหนือขอบฟ้าทาง ทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius)  สังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ  0.1 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) วงแหวนของดาวเสาร์มีความเอียงเป็นมุม 24.3 องศา เมื่อสังเกตด้วยกล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 15 เท่าขึ้นไป หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะสามารถเห็นวงแหวนของ ดาวเสาร์ที่สวยงามได้ และดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06:00 น. ของเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 

pr20190701 2 03

ภาพจำลองการเกิดปรากฏการณ์จากโปรแกรม Stellarium

        สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม“ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 18:00-22:00น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่

1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (081-8854353)

2) นครราชสีมา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (086-4291489)

3) ฉะเชิงเทรา: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (084-0882264)

4) สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (095-1450411)

        พิเศษ! สำหรับชาวสงขลา กิจกรรมสังเกตการณ์ครั้งแรก ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา หอดูดาวภูมิภาคแห่งใหม่และแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของประเทศ

        และเช่นเคยสำหรับชาวเชียงใหม่พบกับ Special Talk "ดาวเสาร์ : ราชาแห่งวงแหวน" โดย “พี่หวาย”  - พิสิฏฐ นิธิยานันท์ ผู้เข้ารอบสุดท้ายแฟนพันธ์แท้ระบบสุริยะ และเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ พร้อมชม ดาวเสาร์เคล้าเสียงดนตรี ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า  ทาง  www.facebook.com/NARITpage ลุ้นรับ “พวงกุญแจดาวเสาร์” ณ จุดลงทะเบียนภายในงาน **จำนวนจำกัด**

pr20190701 2 04

        นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ“กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์มาบริการประชาชนเช่นกัน ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.NARIT.or.th

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.    Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth,  Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313