นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลภาพถ่ายจากยานกาลิเลโอมาประมวลผลใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กับยานยูโรปาคลิปเปอร์ในอนาคต

ยูโรปา (Europa) เป็นหนึ่งในดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดีค้นพบโดยกาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี พื้นผิวดวงจันทร์ยูโรปามีลักษณะภูมิประเทศหลายรูปแบบทั้งสันเขา ที่ราบ และรอยแยก กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งพื้นผิวดาว โดยภาพถ่ายทั้งสามที่แสดงในรูปด้านบนเป็นภาพถ่ายพื้นที่ที่อยู่ในลองจิจูดเดียวกัน ถ่ายโดยยานกาลิเลโอขององค์การนาซาเมื่อปี พ.ศ. 2541 แม้ว่าข้อมูลจะมีอายุมากกว่า 20 ปี ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลกลับมาประมวลผลใหม่อีกครั้ง ทำให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวดวงจันทร์ยูโรปามากยิ่งขึ้น

as20200714 1 01

รูปภาพแสดงตำแหน่งและภาพถ่ายของพื้นผิวเฉพาะตำแหน่งนั้นบนดวงจันทร์ยูโรปาจากยานอวกาศกาลิเลโอ

 

นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลภาพถ่ายดังกล่าวมาประมวลผลอีกครั้งด้วยซอฟต์แวร์และเทคนิคใหม่ ช่วยให้ได้ภาพสีที่มีความละเอียดสูงสุดถึง 223 เมตรต่อพิกเซล ทำให้สังเกตเห็นความแตกต่างของลักษณะทางธรณีบนดวงจันทร์ยูโรปาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เบื้องต้นคาดว่าสีขาวและสีฟ้าคือบริเวณที่เป็นน้ำแข็ง ส่วนสีน้ำตาลคือสสารที่ส่วนใหญ่เป็นเกลือผสมกับน้ำแข็ง

 

as20200714 1 02

 

จากการประมวลผลใหม่ครั้งนี้สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ที่เป็นเส้นไขว้ตัดกันคือแนวสันเขาและรอยแยกทอดยาว เกิดจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารดวงอื่น ๆ กระทำต่อพื้นผิวและโครงสร้างภายในของดวงจันทร์ยูโรปา เกิดแรงดันที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรใต้พื้นผิวดาวพุ่งขึ้นตามรอยแยกแล้วเกาะตัวซ้อนทับกันด้านบน กลายเป็นร่องเหวขนาดใหญ่บนพื้นผิว รวมถึงเปลือกดาวมีการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดเส้นรอยแยกที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิงทั่วทั้งดาว

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปาลักษณะนี้ก่อตัวขึ้นประมาณ 40 - 90 ล้านปีที่แล้ว เทียบกับอายุของระบบสุริยะที่กำเนิดขึ้นเมื่อ 4,600 ล้านปี  นับว่าดวงจันทร์ยูโรปามีพื้นผิวที่อายุน้อยมากที่สุดในระบบสุริยะ จึงเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการสำรวจระบบสุริยะที่จะช่วยอธิบายกลไกการเกิดพื้นผิวลักษณะต่าง ๆ ของดาวเคราะห์ได้

 

as20200714 1 03

ภาพจำลองยานยูโรปาคลิปเปอร์กำลังโคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปา

 

การนำข้อมูลมาประมวลผลใหม่ในครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับ “ยานยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper)” ขององค์การนาซาที่จะเดินทางไปศึกษาดวงจันทร์ยูโรปาอีกครั้ง โดยจะบินเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์ยูโรปามากกว่า 10 รอบ เพื่อสำรวจลักษณะพื้นผิวและกลไกการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็ง  ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นภารกิจกลับไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาครั้งแรกนับตั้งแต่ยานอวกาศกาลิเลโอเสร็จสิ้นภารกิจ

 

เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

[1] https://www.nasa.gov/feature/jpl/newly-reprocessed-images-of-europa-show-chaos-terrain-in-crisp-detail

[2] https://spacenews.com/europa-clipper-passes-key-review/

[3] https://www.jpl.nasa.gov/spaceimages/details.php?id=PIA23872