คืน 21 ตุลา ชวนมาถ่ายภาพฝนดาวตกโอไรโอนิดส์

ในคืนวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไปจนรุ่งเช้าของอีกวัน โดยมีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก สำหรับปีนี้ในช่วงที่สามารถสังเกตเห็นฝนดาวตก ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนเหมาะแก่การถ่ายภาพตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

001

ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ ทางทิศตะวันออก

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5DSR / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec x 20 Images / Filter : LEE Soft Filter No.3)

 

002

ภาพจำลองจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก

 

            ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) หรือฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคมที่ ซึ่งฝนดาวตกโอไรโอนิดส์จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20 - 22 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวง ต่อชั่วโมง มีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 23.00 น.

          ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายนของทุกปี เศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน

          การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะมีดาว 3 ดวงอยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน

 

ความพิเศษของฝนดาวตกโอไรโอนิดส์

          แม้ว่าอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเรียงเด่นที่มีความสว่างและมีดาวที่มีความโดดเด่น หากสามารถถ่ายภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกมาได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงาม รวมทั้งเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาวทำให้มีโอกาสที่ดีที่ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์ รวมทั้งปีนี้เราสามารถถ่ายได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพฝนดาวตกจำนวนมาก

 

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพฝนดาวตก

          สามารถถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตั้งแต่หลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงที่มักจะมีโอกาสได้ภาพฝนดาวตก ประเภทไฟล์บอล เส้นยาวๆ นั้น จะอยู่ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปเนื่องจาก เป็นช่วงที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ และนอกจากนั้นในช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันอีกด้วย

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพฝนดาวตก

  1. กล้องดิจิตอล เลนส์มุมกว้าง และสายลั่นชัตเตอร์

 003

          กล้องดิจิตอลที่สามารถใช้ความไวแสง (ISO) ได้สูงๆ จะมีข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพฝนดาวตก ซึ่งสามารถเก็บแสงฝนดาวตกได้ดี

 

  1. เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง) ได้เปรียบเก็บแสงได้ดีกว่า

004

              ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

 

  1. อุปกรณ์ตามดาวและขาตั้งกล้องที่มั่นคง

005

            อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง

          ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

 

เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพ

  1. เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพควรเริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า
  2. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก
  3. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า
  4. ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก
  5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
  6. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปยังบริเวณจุดกระจายตัวของฝนดาวตก บริเวณแขนกลุ่มดาวนายพราน
  7. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า
  8. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน