รางวัลภาพถ่ายดาราศาสตร์ชนะเลิศปีนี้ มีเทคนิคดีๆที่อยากให้รู้กัน

ในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2561 ปีนี้ มีผู้สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดกว่า 600 ภาพ โดยในปีนี้มีนักถ่ายภาพหน้าใหม่เริ่มส่งภาพเข้าร่วมประกวดกันมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ รวมทั้งมีการใช้เทคนิคการถ่ายภาพและการประมวลภาพถ่ายที่หลากหลายอย่างชัดเจน


001

        สำหรับการตัดสินภาพถ่ายในปีนี้ทางคณะกรรมการใช้เวลาในการตัดสินภาพแต่ละประเภทนานกว่าครั้งก่อนๆมาก โดยภาพที่ชนะใจกรรมการนั้น เป็นภาพที่มีคะแนนจากการโหวตสูงสุดของแต่ละประเภทแบบ เอกฉันท์ ซึ่งผมหนึ่งในคณะกรรมขออนุญาตนำเอาภาพที่ได้รางวัลที่ 1 ของแต่ละประเภทมาเล่าให้ฟังว่าแต่ละท่านถ่ายกันมาอย่างไร แล้วทำไมถึงชนะใจกรรมการหลายๆท่าน ดังนี้

1. ชนะเลิศประเภท Deep Sky Objects / ชื่อภาพ Colors of M42 / ผู้ถ่ายภาพ : สิทธิ์ สิตไทย  

002

คำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่าย

        ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องตามดาว Astro-Physics 1100GTO ไกด์ด้วยกล้องเล็ง Celestron 80mm ด้วย CCD Meade DSI Pro โดยแบ่งออกเป็น 60,120,300,600,900 วินาที ในแต่ละฟิลเตอร์  รวมเวลาทั้งหมด 605 นาที หรือ 10 ชั่วโมง 50 นาที   ถ่ายช่วงวันที่ 4-6 มกราคม 2560 (ทั้งหมด ถ่ายที่อุณหภูมิ CCD ที่ -15 องศาเซลเซียส)

        นำภาพทั้งหมดมา Process โดยผ่านโปรแกรม Maxim DL โดยประกอบด้วย Bias Frame, Flat Frame และ Dark Frame อีกจำนวนหนึ่ง แล้วจึงปรับค่าสี ด้วย Photoshop

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ 

        กล้องโทรทรรศน์ TEC140 + ซีซีดีถ่ายภาพ QHY9CCD บนขาตั้งกล้องตามดาว Astro-Physics 1100GTO ไกด์ด้วยกล้องเล็ง Celestron 80mm ด้วย CCD Meade DSI Pro

ความพิเศษของภาพนี้

        ภาพนี้ถือเป็นภาพเนบิวลาที่หลายคนอาจคุ้นตากันดี แต่ความพิเศษของภาพนี้คือ รายละเอียดในแต่ละส่วนทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างโดยปกติแล้ว หากถ่ายด้วยเทคนิคการถ่ายภาพทั่วไปแล้วก็มักจะมีแสงสว่างโอเวอร์ บริเวณกลางเนบิวลา ซึ่งเป็นตำแหน่งของกระจุกดาวทราปีเซียมที่อยู่ในใจกลางเนบิวลานายพราน โดยภาพนี้ผู้ถ่ายได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) คือ การถ่ายภาพให้มีช่วงการรับแสงกว้างกว่าปกติ เพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนตั้งแต่ช่วงแสงสว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด ดังตัวอย่างภาพด้านบนเป็นภาพเนบิวลา M42 ในกลุ่มดาวนายพราน 

        ซึ่งผู้ถ่ายต้องถ่ายภาพที่หลายช่วงการเปิดรับแสงจำนวนหลายภาพ หากถ่ายภาพเพียงช่วงการรับแสงเดียวเพื่อเก็บรายละเอียดของกลุ่มก๊าช กระจุกดาวทราปีเซียมที่อยู่ในใจกลางเนบิวลานายพรานก็จะสว่างโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียด ดังนั้นการถ่ายภาพในแต่ละช่วงแสงตั้งแต่สว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด แล้วนำมาทำเป็นภาพ HDR ก็จะได้ภาพที่มีรายละเอียดของภาพมากยิ่งขึ้น

        ซึ่งจากคำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่ายจะเห็นว่า นอกจากจะใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR แล้ว ในการถ่ายแต่ละช่วงเวลาการเปิดหน้ากล้องยังต้องถ่ายผ่านฟิลเตอร์ LRGB แยกมาอีกด้วยแล้วนำมารวมเป็นภาพสี และต้องทำแบบนี้ในอีกหลายๆภาพ ที่ถ่ายด้วยช่วงเวลาการเปิดหน้ากล้องต่างๆ กัน เรียกว่ากว่าจะได้ภาพนี้มานั้น ไม่ได้ง่ายเลย และต้องมีความอดทนพยายามมาก รวมทั้งทักษะการตั้งกล้องถ่ายภาพที่ต้องติดตามวัตถุท้องฟ้าอย่างแม่นยำ และภาพนี้ยังสามารถนำไปใช้อธิบายลักษณะและรายละเอียดของส่วนต่างๆของเนบิวลาได้เป็นอย่างดี

2. ชนะเลิศประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ / ชื่อภาพ Total Solar Eclipse 2017, The Series / ผู้ถ่ายภาพ : ปวีณ อารยางกูร  

003

คำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่าย

        ติดตั้งกล้องบนมอเตอร์ตามดาว โดยทำ Polar Alignment ด้วยเข็มทิศและระดับน้ำวัดมุม เพื่อให้ดวงอาทิตย์เลื่อนออกจากภาพช้าที่สุด ทำการถ่ายภาพต่อเนื่องโดยปรับค่า Shutter Speed เป็นระยะเพื่อปรับสภาพแสง ในช่วง ก่อนช่วง Second Contact นำ Filter ออก และใส่กลับเข้าไปอีกครั้งหลังช่วง Third Contact

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ

        กล้อง Digital Olympus E-M5 Mark II เลนส์ Sigma 150-600mm. ฟิลเตอร์ Thousand Oak Glass 2+ Solar Filter ติดตั้งบนฐานมอเตอร์ตามดาว

ความพิเศษของภาพนี้

        เป็นภาพที่แสดงชุดการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งสามารถถ่ายภาพมาได้ครบสมบูรณ์ในแต่ละช่วงปรากฏการณ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วน ปรากฏการณ์แหวนเพชร ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เปลวสุริยะ และในช่วงเต็มดวงที่แสดงภาพของชั้นโคโรนาได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ถ่ายภาพต้องศึกษาและวางแผนก่อนว่าบริเวณใดบนโลกที่จะเกิดปรากฏการณ์และสามารถเห็นปรากฏการณ์ได้แบบเต็มดวง รวมทั้งการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ติดตามดวงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์อย่างแม่นยำ ทั้งนี้จากคำบรรยายผู้ถ่ายใช้วิธีการถ่ายภาพแบบปรับค่า Shutter Speed ตลอดช่วงการเกิดปรากฏการณ์ ซึ่งใช้เวลาถ่ายภาพแบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ กว่า 3 ชั่วโมง โดยต้องนั่งถ่ายแบบต่อเนื่องตลอด เนื่องจากทุกช่วงปรากฏการณ์แสงจะมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างตลอดเวลาไม่คงที่ 

        ดังนั้น กว่าจะได้ภาพนี้มาคงต้องบอกว่าหน้าคงดำไปหลายเดือนกันเลยทีเดียว และภาพถ่ายปรากฏการณ์ชุดนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการอธิบายการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้ดีอีกด้วยครับ

3. ชนะเลิศประเภทวัตถุในระบบสุริยะ / ชื่อภาพ LoveJoy C/2014 Q2 / ผู้ถ่ายภาพ : วิทยา ศรีชัย  

004

คำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่าย

        ถ่ายภาพแบบ Prime Focus ถ่ายนานภาพละ 120 วินาที จำนวน 13 ภาพ รวมระยะเวลารับแสงนาน 26 นาที , Pre-process ด้วยโปรแกรม PixInsight และปรับภาพขั้นตอนสุดท้ายด้วย PixInsight และ Photoshop เนื่องจากจะต้อง Align หัวดาวหางให้อยู่กับที่เพื่อ combine ดาวฤกษ์ข้างหลัง จะเป็นขีด จะต้องปรับให้ดาวฤกษ์เป็นจุด และใช้ Dark, Flat, Bias สำหรับทำ image calibration

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ 

        กล้องถ่ายภาพ Nikon D750 กล้องโทรทรรศน์หักเหแสง ขนาด 130 มม.

ความพิเศษของภาพนี้

        สำหรับภาพดาวหางเลิฟจอย LoveJoy C/2014 Q2 ถือว่าเป็นดาวหางที่มีหางฝุ่นที่สวยงาม และสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จัดเป็นดาวหางคาบยาว มีสีฟ้า-เขียว ซึ่งในการถ่ายภาพดาวหางนั้น จริงๆแล้วดาวหางจะมีอัตราการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตำแหน่งตลอดเวลาบนท้องฟ้า ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนที่เร็วกว่าการเคลื่อนที่ของดาวพื้นหลังหรือทรงกลมท้องฟ้า ทำให้ในการถ่ายภาพดาวหางนั้น วิธีการ เวลาในการเปิดหน้ากล้อง รวมทั้งกระบวนการถ่ายภาพนั้นจะมีความแตกต่างจากการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าทั่วไปอยู่บ้าง

        นอกจากนั้นในการประมวลผลภาพถ่ายดาวหางแต่ละภาพที่ถ่ายมาแบบต่อเนื่อง ตำแหน่งของดาวหางในแต่ละภาพจะมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งจากดาวพื้นหลังไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องใช้เทคนิคของการประมวผลภาพถ่ายที่ใช้กับดาวหางโดยเฉพาะ ซึ่งในจุดนี้ก็ถือเป็นทักษาะสำคัญของผู้ถ่ายภาพที่จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้มาพอสมควร ซึ่งจากภาพนั้นผู้ถ่ายสามารถอธิบายหลักการต่างๆในการถ่ายภาพมาได้อย่างครบถ้วน ประกอบกับภาพถ่ายดาวหางสามารถแสดงรายละเอียดของหางฝุ่นได้อย่างสวยงามและนำไปใช้ในการเรียนรู้เรื่องดาวหางได้ดีอีกด้วย

4. ชนะเลิศประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ / ชื่อภาพ ปะการังเคียงข้างทางช้างเผือก / ผู้ถ่ายภาพ : ณัฐพล พลบำรุงวงศ์ 

005

คำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่าย

        ถ่ายโดยใช้กล้องติดเฮาซิงเพื่อการถ่ายภาพใต้น้ำและใช้แสงไฟช่วยในตำแหน่งปะการัง โดยช่วงเวลาสั้นๆ ในหนึ่งปีที่น้ำทะเลจะลดลงสุดในช่วงเช้ามืด และไม่มีแสงไฟรบกวนจากเรือประมง หรือคลื่นลม และเมฆที่จะเข้ามาบดบัง ซึ่งตรงกับจังหวะของทางช้างเผือกในช่วงเดือนมีนาคม ที่จะอยู่ขนานกับเส้นขอบฟ้าทางตะวันออก ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ปะการังใต้น้ำจะได้อยู่ใกล้ทางช้างเผือกที่ปลายขอบฟ้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ 

        กล้องดิจิตอล Nikon D800E + เฮาซิง (อุปกรณสำหรับถ่ายภาพใต้น้ำ)

ความพิเศษของภาพนี้

        ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ต้องยกให้เป็นประเภทที่มีความนิยมสูงสุด ซึ่งในปีนี้มีจำนวนการส่งภาพเข้าร่วมมากที่สุด 200 กว่าภาพ แต่ละภาพก็มีทั้งความสวยงาม ความดุเดือด รวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพที่หลากหลายและแหวกแนวกว่าปีก่อนๆอย่างมาก

        ในภาพนี้ผู้ถ่ายใช้ความคิดที่สร้างสรรค์และแหวกแนวไม่ซ้ำใครสามารถดึงดูดใจกรรมการได้ไม่น้อย ซึ่งจากคำบรรยายของผู้ถ่ายนั้นได้มีการวางแผน รอเวลาที่เหมาะสม ศึกษาการเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง รวมทั้งหาตำแหน่งและทิศทางที่จะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงเวลาที่ตรงกับช่วงวันที่น้ำลงมากที่สุดและใช้อุปกรณ์การถ่ายใต้น้ำร่วมเพื่อให้ได้ภาพปะการัง ซึ่งเป็นเทคนิคได้มีการผสมผสานระหว่างการจัดวางองค์ประกอบด้านศิลปะและการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้าด้วยใจอย่างลงตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่สวยงาม 

5. ชนะเลิศประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก / ชื่อภาพ LIGHTNING STORM / ผู้ถ่ายภาพ : ชัชชัย จั่นธนากรสกุล  

006

คำบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพของผู้ถ่าย

        ผู้ถ่ายภาพนี้ไม่มีคำบรรยายของเทคนิคการถ่ายภาพแนบมาให้ นั่นอาจเป็นเพราะการถ่ายภาพในประเภทนี้ มักจะถ่ายภาพมาได้ด้วยความจังหว่ะที่พอดี ส่วนเทคนิคสำคัญของการถ่ายภาพประเภทนี้ก็คือ การหมั่นสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัว รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความพิเศษอย่างไรบ้าง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ 

        กล้องดิจิตอล Nikon D750

ความพิเศษของภาพนี้

        สำหรับภาพประเภทสุดท้ายนี้คือภาพฟ้าผ่าที่สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาได้  โดยฟ้าผ่าในภาพนั้นเราอาจไม่คุ้นตาสักเท่าไหร่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการเกิดฟ้าผ่ามักจะเกิดในรูปแบบการผ่าในแนวตั้งหรือผ่าจากเมฆด้านบนลงล่าง(พื้นดิน) หรือจากล่างขึ้นบน  แต่สำหรับภาพนี้คือภาพฟ้าผ่าาแบบแนวขวาง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ประกอบกับผู้ถ่ายสามารถถ่ายภาพได้ออกมาในตำแหน่งที่อยู่กลางภาพพอดิบพอดีแป๊ะ ถือเป็นความลงตัวและโชคดีของผู้ถ่ายที่สามารถบันทึกภาพนี้มาได้อย่างสวยงาม 

        นอกจากนั้นภาพดังกล่าว ถือเป็นภาพที่สามารถนำมาอธิบายรูปแบบของการเกิดฟ้าผ่าในรูปแบบที่หาดูได้ยากได้เป็นอย่างดีอีกด้วย