เทรนด์ถ่ายภาพดาราศาสตร์ปีนี้กับหน้าปี มาดูกันว่าจะมีอะไรน่าถ่ายตามไปดูกัน

สำหรับภาพถ่ายที่ชนะการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ทั้ง 5 ประเภท ในปีนี้ก็ล้วนแต่เป็นภาพที่มีความสวยงามและยังสามารถสื่อสารหลักการทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย โดยผลการให้คะแนนในแต่ละภาพนั้น กรรมการได้พิจารณาทั้งด้านความสวยงาม องค์ประกอบภาพ การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ความถูกต้องของข้อมูลประกอบการถ่ายภาพ รวมทั้งคุณภาพของไฟล์ และความยากง่ายของภาพถ่ายแต่ละประเภท ซึ่งกว่าจะคัดเลือกภาพถ่ายออกมาได้นี่เรียกว่าทั้งซูม ทั้งอธิบายหลักการแนวคิด และให้ความเห็นกันอย่างดุเดือด เพื่อให้ได้ภาพที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์มากที่สุด

001

        ในคอลัมน์นี้ผมเลยขอนำเสนอเทรนด์หรือรูปแบบในปีหน้าว่า มีอะไรที่เหล่านักถ่ายภาพดาราศาสตร์สามารถวางแผนเตรียมถ่ายภาพเพื่อส่งเข้าประกวดกันบ้าง ซึ่งในปีนี้ที่ผ่านมาภาพที่ส่งเข้ามาประกวดก็แตกต่างจากปีก่อนๆ ทั้งในเรื่องของการเลือกวัตถุท้องฟ้าที่ยากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละปี เทคนิคการถ่ายภาพที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อความสวยงามที่ดีขึ้น

        เอาหล่ะครับ! เรามาเริ่มหาไอเดียกันเลยดีกว่าว่าปีหน้า เราควรจะวางแผนถ่ายภาพอะไรกันบ้างตามไปดูกันเลยครับ

ประเภท Deep Sky Objects

        ภาพถ่ายประเภท Deep Sky Objects ถือเป็นภาพถ่ายที่นักถ่ายภาพต้องใช้ทั้งความพยายามทักษะและยังต้องทุ่มเงินกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ โดยภาพประเภทนี้เทรนการถ่ายภาพก็จะเปลี่ยนไปทุกปีตามสภาพอากาศในแต่ละปีว่า ช่วงไหนท้องฟ้าเปิด ถ่ายอะไรได้บ้าง หรือฟ้าใสเคลียร์ ซึ่งวัตถุท้องฟ้าในช่วงฤดูหนาวที่เป็นภาพเดิมๆ ซ้ำๆ หากไม่มีการพัฒนาเรื่องคุณภาพไฟล์ที่ดีมากขึ้นหรือเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น ก็อาจจะสู้ภาพถ่ายที่ถ่ายได้ในช่วงฤดูอื่นที่ถ่ายได้ยากได้เช่นกัน และวัตถุที่หาชมได้ยากก็ถือเป็นอีกข้อสำหรับการพิจารณาในการให้คะแนนด้วยเช่นกัน

        ดังนั้น หากให้ผมแนะนำว่า ปีหน้าหากอยากลองถ่ายภาพส่งเข้าประกวดในประเภทนี้อาจลองเปลี่ยนไปถ่ายวัตถุท้องฟ้า บริเวณกลุ่มดาวซีกฟ้าใต้กันดูบ้าง อาทิเช่น ภาพเนบิวลาทะเลสาบ (Lagoon Nebula, M8, NGC 6523) เนบิวลานกอินทรีย์ (Eagle Nebula, M16, NGC 6611) เนบิวลาหงษ์ (Swan Nebula, M17, NGC 6618) หรือเนบิวลาสามแฉก (Trifid Nebula, M20, NGC 6514) แม้แต่กระทั่งการถ่ายภาพในช่วงคลื่น Narrowband ก็เป็นอีกรูปแบบที่น่าสนใจ เพราะการาถ่ายมนช่วงคลื่น Narrowband เช่นการถ่ายผ่านฟิลเตอร์ Ha ก็สามารถเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวครับ    

002

003

ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

        สำหรับประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์แต่ละปีก็มักจะมีปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงให้ได้ถ่ายภาพกัน หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่มักเกิดเป็นประจำทุกปี แต่ต้องคอยติดตามดูว่า ในแต่ละปีฝนดาวตกกลุ่มดาวอะไรที่มีแนวโน้มของอัตราการตกสูงๆ ก็จะมีโอกาสถ่ายติดไฟล์บอลลูกใหญ่ๆ ได้ และในช่วงท้ายปีนี้ฝนดาวตกทั้ง ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ก็มีดวงจันทร์กวนทั้งคู่จึงไม่เหมาะแก่การถ่ายภาพมากนัก

        แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยจะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 10.30 -13.30 น. โดยประมาณ ซึ่งพื้นที่ ที่มีเปอร์เซ็นต์การบังมากที่สุดคือทางภาคใต้ ถือว่าเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าถ่ายภาพส่งเข้าร่วมประกวดในปีหน้าเช่นกันครับ

004

ตัวอย่างภาพสุริยุปราคาบางส่วนที่เพชรบุรี ภาพโดย นายนิคม คุปตะวินทุ ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ

ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

        ภาพประเภทวัตถุในระบบสุริยะ จริงๆแล้วภาพถ่ายประเภทนี้ก็มีวัตถุไม่กี่อย่างที่นักดาศาสตร์สมัครเล่นสามารถถ่ายภาพได้ เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวหาง แต่ที่หลายคนมักมองข้ามกันไปก็คือ ดาวศุกร์ ซึ่งหลายๆปีที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นมีใครถ่ายภาพดวงศุกร์ส่งประกวดกันเลย 

        ในปีหน้าดาวศุกร์จะอยู่ในช่วงสว่างที่สุด (Venus at greatest brightness) ตรงกับวันที่ 28 เมษายน สังเกตเห็นทางทิศตะวันตก ในช่วงเย็น และอีกครั้งในวันที่ 8 กรกฎาคม สังเกตเห็นทางทิศตะวันออกช่วงรุ่งเช้า ก็ถือได้ว่าเป็นอีกวัตถุหนึ่งที่น่าติดตามถ่ายภาพกันในปีหน้าครับ

005

ภาพถ่ายดาวศุกร์ โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา และธนกฤต สันติคุณาภรต์

อ้างอิงจาก : https://in-the-sky.org/news.php?id=20200428_11_100 และ https://in-the-sky.org/news.php?id=20200708_11_100

ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

        ภาพถ่ายประเภทนี้ต้องยอมรับว่าเป็นภาพที่มีผู้นิยมถ่ายภาพส่งเข้าร่วมประกวดมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ภาพทาวช้างเผือก ภาพกลุ่มดาวกับสถานที่ท่องเที่ยว เส้นแสงดาว แสงจักรราศี หรือภาพดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์กับวัตถุบนพื้นโลก ซึ่งเทรนด์ปีนี้ก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายทางช้างเผือก กับภาพเส้นแสงดาวบ้างเล็กน้อย โดยภาพประเภทนี้นอกจากความสวยงามแล้ว ผู้ถ่ายต้องคำนึงถึงการสื่อสารของภาพที่สามารถแสดงหลักการทางดาราศาสตร์ได้ดีอีกด้วย อีกทั้งเรื่องของคุณภาพไฟล์ที่จะต้องดีด้วยเช่นกัน

        ดังนั้น หากให้ผมแนะนำการถ่ายภาพเพื่อส่งเข้าประกวด ผู้ถ่ายอาจมองหาสถานที่ ที่เป็นพื้นที่ Dark Sky ในเมืองไทย ที่อาจจะเป็นแลนด์มาร์คของจุดท่องเที่ยวถ่ายภาพใหม่ๆ ของเมืองไทยได้เช่นกัน นอกจากนั้นการให้ความสำคัญกับหลักการและการสื่อความหมายของภาพที่ช่วยอธิบายหลักการทางดาราศาสตร์ได้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งนั้นหมายถึงการที่เราถ่ายภาพทางช้างเผือกมาแบบดุๆ ก็ไม่ใช้ว่าเราจะชนะภาพอื่นได้ง่ายๆนะครับ เพราะมันต้องมีรายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วยครับ

006

ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

        สำหรับภาพถ่ายประเภทสุดท้ายนี้ นอกจากจะเป็นภาพถ่ายที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้านานๆ แล้ว ภาพประเภทนี้ยังต้องพึ่งจังหว่ะและโอกาสอีกด้วย แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเตรียมตัวก่อนการถ่ายภาพได้ หากแต่เราศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศล่วงหน้า และเมื่อใดที่เราได้เห็นหรือพบว่าลักษณะของสภาพอากาศในช่วงนั้นๆเอื้อต่อการเกิดปรากฏการณ์ เราก็อาจจะมีโอกาสที่จะได้ภาพมากกว่าคนอื่นๆ และได้ภาพปรากฏการณ์สวยๆ มาได้เช่นกันครับ

        โดยภาพประเภทนี้หากเรามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดในบรรยากาศโลกแล้ว การได้มาซึ่งภาพถ่ายที่สวยงามครบถ้วนทุกองค์ประกอบของปรากฏการณ์ ก็ช่วยให้เราคว้ารางวัลประเภทนี้ได้ไม่ยากเช่นกันครับ และหากเราคอยตามถ่ายภาพปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีและลองเอามาคัดเลือกภาพที่เราถ่ายไว้ ก็จะพบว่าบางภาพก็เป็นปรากฏกาณณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆทั่วไป ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่านอกจากเราแล้วคนอื่นๆ ก็อาจถ่ายได้เช่นกัน 

        ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นได้ยาก และไม่ได้พบได้บ่อยครั้งนัก หากเราสามารถถ่ายภาพมาได้ย่อมมีโอกาสชนะการประกวด รวมทั้งในขณะถ่ายภาพเราควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ว่าในแต่ละช่วงเวลาจะมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญและสามารถถ่ายภาพมาได้ ก็ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะชนะการประกวดได้ในประเภทนี้ไม่ยากครับ 

007

ตัวอย่างภาพถ่ายการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด ที่แสดงองค์ประกอบของปรากฏกาณณ์ในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน

        ดังนั้น หากเราอยากลองดูเทรนด์หรือกระแสการถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อส่งเข้าร่วมประกวด ข้อมูลในแต่ละปีก็ช่วยให้เราวางแผนได้ว่า ในปีหน้าเราจะมีโจทย์ตามถ่ายภาพอะไรกันบ้างเพื่อส่งประกวด ซึ่งต้องวางแผนและศึกษาเรียนรู้เกี่ยววัตถุท้องฟ้า เวลา ตำแหน่ง หรือช่วงเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์ และที่ขาดเสียไม่ได้คือ ภาพที่เราจะถ่ายมานั้นสามารถสื่อสารถึงหลักการทางดาราศาสตร์ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรกันด้วยนะครับ...