จันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อกำหนดเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) ฮ.ศ. 1442

เนื่องจากวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ตรงกับวันที่ 1 ซุลกอดะห์ (Zul Qadah  เดือนที่ 11 ในปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ. 1442 ดังนั้นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไป คือ ช่วงเย็นเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันที่ 29 เดือนซุลกอดะห์ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพื่อที่จะกำหนดวันเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่คือเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah เดือนที่ 12 ในปฏิทินอิสลาม) พร้อมกับกำหนดวันสำคัญประจำเดือนซุลฮิจญะฮ์ คือกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ เป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ของชาวมุสลิม ดังนั้นการกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) จะขึ้นอยู่กับผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งหากผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันเวลาดังกล่าวมีผู้คนที่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah เดือนที่ 12 ในปฏิทินอิสลาม) และจะกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) หรือวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ประจำปี ฮ.ศ. 1442 จะตรงกับวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

as20210709 1 01

รูปที่ 1 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal)

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2564

พื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ที่ดวงจันทร์ตกก่อนดวงอาทิตย์  พื้นที่ไม่มีสีเป็นตำแหน่ที่ผู้สังเกตเห็นงดวงจันทร์ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 7 องศา พื้นที่สีส้มเป็นพื้นที่ที่ผู้สังเกตไม่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยว พื้นที่สีเหลืองเป็นพื้นที่ที่ผู้สังเกตสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวผ่านกล้องโทรทรรศน์

 

       แต่หากผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์ในวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ไม่มี ผู้คนเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะต้องนับให้วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ 30 ของเดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah เดือนที่ 11)  หรือเป็นวันสุดท้ายเดือนซุลกอดะห์ และจะเริ่มนับวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah เดือน 12 ในปฏิทินอิสลาม)  ฮ.ศ. 1442 ก็ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และจะกำหนดวันอิดฎิ้ลอัฎฮา (วันฮารีรายอฮัจญี) ประจำปี ฮ.ศ. 1442 ก็จะตรงกับวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

       ข้อมูลของดวงจันทร์ในวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ดวงจันทร์ดับจะเกิดขึ้นในวันดังกล่าว เวลาประมาณ 08:18 น. ดังนั้นในช่วงเวลาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ณ  ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าดวงจันทร์จะมีอายุประมาณ 10 ชั่วโมง 20 นาที

 

อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 22 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:38 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 292 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 19:00 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 295 องศา

 

จังหวัดกรุงเทพฯ ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 24 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:50 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 293 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 19:14 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 296 องศา

 

อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดวงจันทร์ตกหลังจากดวงอาทิตย์ตก 26 นาที

ดวงอาทิตย์ตกเวลา 19:05 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 294 องศา

ดวงจันทร์ตกเวลา 19:31 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 296 องศา

 

as20210709 1 02

รูปที่ 2 ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ ที่เวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก

ตำแหน่งผู้สังเกตอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2564

 

*หมายเหตุ การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนของปฏิทินอิสลาม) ให้ยึดผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) หรือผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก

 

เรียบเรียง : รอยาลี  มามะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

รูปที่ 1 https://www.staff.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm

รูปที่ 2 ภาพจากซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์ (Stellarium)