จีนส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ 4 สู่อวกาศ หวังไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์

เช้าวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2018  ประเทศจีนได้ส่งจรวดลองมาร์ช 3 บี (Long March 3B) ที่มียานสำรวจฉางเอ๋อ 4 (Chang’e 4) ขึ้นสู่อวกาศ โดยชื่อของยานถูกตั้งชื่อตามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ตามความเชื่อของชาวจีน 


as20181214 1 01

ภาพการปล่อยจรวด Long March 3B พร้อมกับยาน Chang’e 4

การส่งจรวดประสบความสำเร็จ ส่วนยานฉางเอ๋อ 4  มีกำหนดการไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ต้นเดือนมกราคมนี้

        “ ฉางเอ๋อ 4 จะเป็นความพยายามครั้งแรกของมวลมนุษยชาติที่จะส่งยานไปลงจอดและสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ และภารกิจนี้ก็จะเป็นโครงการสำรวจอวกาศที่มีความหมายที่สุดของปีนี้ ”

        ผู้บัญชาการภารกิจ He Rongwei ได้กล่าวกับสำนักข่าว Global Times ของรัฐบาลจีน 

        เนื่องจากดวงจันทร์นั้นหันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลก ทำให้มนุษย์เราไม่เคยมองเห็นด้านไกลของดวงจันทร์เลย จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1959 ที่มนุษย์ได้เห็นภาพแรกของด้านไกลดวงจันทร์ เมื่อยานลูนา 3 (Luna 3) ของสหภาพโซเวียตได้ถ่ายภาพแรกส่งกลับมายังโลก ซึ่งก็แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของดวงจันทร์ทั้งสองฝั่ง โดยดวงจันทร์ฝั่งใกล้นั้นมีพื้นที่ราบเรียบมากกว่า เมื่อเทียบกับด้านไกลอย่างเห็นได้ชัด

        ปัจจุบันยังไม่เคยมีภารกิจใดที่ส่งยานอวกาศไปลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์เลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าจะเคยมีแนวคิดในการส่งยานไปสำรวจมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในภารกิจของยานอะพอลโล 17 ซึ่งเป็นการลงดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายของมนุษย์ก็เกือบจะได้ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว แต่ก็ถูกตัดทิ้งไปเนื่องจากความเสี่ยงของภารกิจที่สูงเกินไป

        ประเทศจีนมีเป้าหมายในการสำรวจดวงจันทร์ที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การส่งยานไปโคจรเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และในปี ค.ศ. 2013 พวกเขาได้ส่งยานฉางเอ๋อ 3 ไปลงจอดที่ดวงจันทร์ด้านใกล้ พร้อมปล่อยรถโรเวอร์ขนาดเล็กลงไปวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งนั่นสร้างความภูมิใจและมั่นใจให้กับประเทศจีน นำมาสู่ภารกิจของฉางเอ๋อ 4 ที่ในตอนแรกถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นยานสำรองของฉางเอ๋อ 3 เท่านั้น แต่ในตอนนี้มันกำลังจะไปสร้างประวัติศาสตร์ที่ด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว

        หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ยานฉางเอ๋อ 5 จะถูกส่งตามไปสำรวจปีหน้า พร้อมกับเป้าหมายที่จะนำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่มนุษย์จะไปนำตัวอย่างหินกลับมา นับจากที่ยานลูนา 24 นำตัวอย่างชุดสุดท้ายกลับมาจำนวนทั้งสิ้น 170 กรัม

        อนาคตการสำรวจดวงจันทร์ของประเทศจีนนั้นน่าติดตามมาก เพราะพวกเขายังมีภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ด้วยตัวเองในปี ค.ศ. 2030 และในระยะยาวยังมีแผนที่จะไปตั้งฐานที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ 

        ส่วนในปี ค.ศ. 2019 นอกจากจีนแล้ว ยังมีการลงจอดบนดวงจันทร์โดยยานอวกาศของประเทศอิสราเอลและอินเดียอีกด้วย ซึ่งทำให้ปี ค.ศ. 2019 นี้เรื่องราวการสำรวจดวงจันทร์น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เรียบเรียงโดย 
กรทอง วิริยะเศวตกุล
(ศึกษาอยู่ปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)

บรรณาธิการ
อาจวรงค์ จันทมาศ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาราศาสตร์ 

อ้างอิง
https://phys.org/news/2018-12-china-rover-side-moon.html
https://gbtimes.com/change-4-spacecraft-on-the-way-to-the-moon-after-successful-launch-from-xichang