สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ 3 ที่ปล่อยยานสำรวจดาวอังคารขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ โดยยานของสหรัฐฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ และเฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี

as20200804 2 01

 

ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เวลา 18:50 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V) ของสหรัฐอเมริกาที่บรรทุกรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ และเฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ณ ศูนย์ปล่อยจรวดในสถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล (Cape Canaveral) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ โดยหลังจากยานออกจากวงโคจรรอบโลกได้ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 เดือนครึ่ง ก่อนจะถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สำหรับรถสำรวจดาวอังคารรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ “เพอร์เซเวียแรนส์” จะมีภารกิจศึกษาทางธรณีวิทยาและชีวดาราศาสตร์บนดาวอังคาร รวมไปถึงลักษณะภายนอกเหมือนกับรถสำรวจดาวอังคารของสหรัฐฯ รุ่นก่อนหน้า “คิวริออซิตี” ที่เริ่มสำรวจดาวอังคารในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 แต่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่าง ประกอบด้วย

- จำนวนกล้องถ่ายภาพทั้งหมดของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์มี 23 ตัว (ขณะที่รถสำรวจคิวริออซิตีมี 17 ตัว)

- ระบบเก็บตัวอย่างดินและหินดาวอังคาร (รถสำรวจคิวริออซิตีไม่มีส่วนนี้)

- แขนกลของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ที่ต้องถืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่หนักกว่า

- ล้อรถสำรวจที่ออกแบบใหม่

- แท่งสำหรับยึดให้รถหุ่นยนต์มีเสถียรภาพระหว่างการส่งขึ้นสู่อวกาศ

- อุปกรณ์ MOXIE สำหรับผลิตแก๊สออกซิเจนจากแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

- เฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี ที่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์บรรทุกไปด้วย

 

จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V)

จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V) เป็นจรวดสำหรับบรรทุกสัมภาระขึ้นสู่อวกาศ ในจรวดตระกูลแอตลาสของสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) บริษัทด้านการบินอวกาศ การป้องกันประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ ปัจจุบันใช้งานโดย United Launch Alliance (ULA) บริษัทลงทุนร่วมระหว่างล็อกฮีดมาร์ติน กับบริษัทโบอิ้ง (Boeing) บริษัทอุตสาหกรรมการบินอวกาศอีกแห่งในสหรัฐฯ

 

as20200804 2 02

 

จรวดรุ่นนี้เริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2545 เคยใช้ส่งสัมภาระขึ้นสู่อวกาศแล้ว 84 ครั้ง ล้มเหลว 1 ครั้ง และสำเร็จ 83 ครั้ง นอกจากนี้ จรวดรุ่นนี้ยังเคยใช้ในการส่งยานสำรวจระบบสุริยะลำอื่น ๆ ขึ้นสู่อวกาศ ได้แก่

- ยานเอ็มอาร์โอ สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2548)

- ยานนิวฮอไรซอนส์ สำรวจดาวพลูโต (พ.ศ.2549)

- ยานแอลอาร์โอ สำรวจดวงจันทร์ (พ.ศ.2552)

- ยานเอสดีโอ สำรวจดวงอาทิตย์ (พ.ศ.2553)

- ยานจูโน สำรวจดาวพฤหัสบดี (พ.ศ.2554)

- รถสำรวจคิวริออซิตี สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2554)

- ยานมาเวน สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2556)

- ยานโอไซริส-เร็กซ์ สำรวจดาวเคราะห์น้อย (พ.ศ.2559)

- ยานอินไซต์ สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2561)

- ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ สำรวจดวงอาทิตย์ขององค์การอวกาศยุโรป (พ.ศ.2563)

 

 สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ฐานปล่อยจรวดทางตะวัตออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ

 as20200804 2 03

 

สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ตั้งอยู่บนแหลมเคนาเวอรอล (Cape Canaveral) รัฐฟลอริดา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานในปี พ.ศ.2492 ในปัจจุบัน มีฐานปล่อยจรวด 3 ฐานอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ ส่วนศูนย์อวกาศเคนเนดี จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงนอกพื้นที่สถานี

            พื้นที่แห่งนี้เริ่มใช้งานสำหรับการปล่อยจรวดในกิจการอวกาศของสหรัฐมาอย่างยาวนาน ทำให้เที่ยวบินอวกาศครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ หลายเที่ยวมาจากการปล่อยจรวดที่นี่ เช่น

- การส่งดาวเทียมของสหรัฐฯดวงแรกขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ (พ.ศ.2501)

- นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯคนแรก ที่ไปถึงอวกาศ (พ.ศ.2504) 

- นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯคนแรก ที่โคจรรอบโลก (พ.ศ.2505)

- ยานลำแรกของสหรัฐฯ ที่สำรวจดาวศุกร์สำเร็จ (พ.ศ.2505)

- ยานลำแรกของสหรัฐฯ ที่สำรวจอังคารสำเร็จ (พ.ศ.2507)

- ยานฝาแฝดวอยเอเจอร์ สำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก (พ.ศ.2520)

            ความเกี่ยวข้องของพื้นที่แห่งนี้ต่อประวัติศาสตร์โครงการอวกาศของสหรัฐฯ ทำให้สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ได้รับการจดทะเบียนเป็นหนึ่งใน “สิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ” (National Historic Landmark)

มาร่วมเอาใจช่วยให้รถสำรวจรุ่นที่ 4 ของสหรัฐฯ (ถัดจากรถสำรวจโซเจอร์เนอร์ รถสำรวจฝาแฝดสปิริต-ออพพอร์ทูนิตี และรถสำรวจคิวริออซิตี) เดินทางถึงดาวอังคารอย่างราบรื่น

 

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4371