การเดินทางไปดาวอังคารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากระยะทางที่ห่างไกลแล้ว อุปสรรคระหว่างทางนั้นก็ยังมีมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือรังสีคอสมิกเป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศหากได้รับในปริมาณมาก ล่าสุด ข้อมูลที่ได้จากยาน ExoMars TGO นั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำการประมาณค่ารังสีที่นักบินอวกาศจะได้รับระหว่างการเดินทางไป-กลับดาวอังคารได้


ภาพจำลองนักบินอวกาศบนดาวอังคาร

        ยาน ExoMars TGO เป็นยานสำรวจดาวอังคารที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรปและรัสเซีย โดยมีเป้าหมายหนึ่งคือการศึกษาส่วนประกอบของแก๊สในบรรยากาศของดาวอังคารอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่สามารถทำได้  ยานลำนี้ถูกส่งจากโลกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 ซึ่งระหว่างการเดินทางสู่ดาวอังคาร ยานลำนี้ได้ใช้อุปกรณ์ชื่อ Liulin-MO ตรวจวัดปริมาณรังสีที่ยานได้รับตลอดการเดินทาง มาถึงตอนที่ยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในปลายปีนั้น

        ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ตรวจวัดทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า นักบินอวกาศที่จะเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคาร และเดินทางจากดาวอังคารกลับมาโลก จะต้องเผชิญกับรังสีคอสมิกมากถึง 60% ที่พวกเขาควรได้รับตลอดอาชีพการเป็นนักบินอวกาศ โดยยังไม่รวมปริมาณที่จะได้รับเมื่อยานลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งข้อมูลในส่วนหลังนี้จะถูกวัดโดยยานลงจอด ที่จะถูกส่งไปลงดาวอังคารในปี ค.ศ. 2021 นี้ 

        รังสีคอสมิกคืออนุภาคพลังงานสูงซึ่งเดินทางมาจากนอกระบบสุริยะ โดยมันสามารถทำลายดีเอนเอของมนุษย์ ซึ่งเป็นอาจส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งและความผิดปกติอื่นๆ ได้ ซึ่งเราต้องขอบคุณสนามแม่เหล็กของโลกที่ช่วยปกป้องมนุษย์จากรังสีอันตรายเหล่านี้ได้สูงถึง 99.9% และยังมีชั้นบรรยากาศเป็นปราการป้องกันอีกด่านด้วยเช่นกัน

        ส่วนดาวอังคารนั้นไม่ได้มีสนามแม่เหล็กเหมือนกับโลก ทำให้รังสีต่างๆ พุ่งทะลุชั้นบรรยากาศที่เบาบางของดาวอังคารได้ และนั่นส่งผลต่อนักบินอวกาศบนดาวอังคารแน่ๆ ที่น่าสนใจคือในระหว่างการเก็บข้อมูลของยาน ExoMars TGO นี้ดวงอาทิตย์ยังค่อนข้างปราณี เนื่องจากไม่มีลมสุริยะพัดเข้ามาซ้ำเติมอย่างรุนแรงเพิ่มไปอีก 

        อย่างไรก็ตามในตอนนี้หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกก็พยายามออกแบบภารกิจให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อร่างกายของนักบินอวกาศ เพื่อที่เราจะได้ส่งมนุษย์คนแรกไปเยือนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ได้สักที

 

เรียบเรียงโดย 
กรทอง วิริยะเศวตกุล
( ศึกษาอยู่ปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ )

บรรณาธิการ
อาจวรงค์ จันทมาศ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาราศาสตร์

อ้างอิง
http://www.europlanet-eu.org/epsc-2018-exomars-highlights-radiation-risk-for-mars-astronauts-and-watches-as-dust-storm-subsides/
http://www.esa.int/Our_Activities/Space_Science/ExoMars/ExoMars_highlights_radiation_risk_for_Mars_astronauts_and_watches_as_dust_storm_subsides
https://www.space.com/21353-space-radiation-mars-mission-threat.html

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 3783