1. อะแดปทีฟออปติกส์และโคโรนากราฟ (Adaptive Optics and Coronagraph)

        สถาบันวิจัยดาราศาสตร์อยู่ในระหว่างการพัฒนาโคโรนากราฟในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Evanescent Wave Coronagraph สำหรับการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ในช่วงอินฟราเรดใกล้และช่วงแสงที่ตามองเห็น ใช้สำหรับการสังเกตการณ์ทั้งบนพื้นโลกและในอวกาศ อุปกรณ์นี้มีศักยภาพมากพอสำหรับการศึกษา การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ที่อยู่ติดกัน รวมไปถึงการสังเกตการณ์ของควาซาร์และใจกลางของกาแล็กซี

        โคโรนากราฟนี้ ประกอบด้วยตัวบดบังรูปแบบใหม่สำหรับบดบังแสงของดาวฤกษ์ และระบบทัศนอุปกรณ์อะแดปทีฟออปติกส์สำหรับการแก้ไขผลกระทบจากการแปรปรวนของชั้นบรรยากาศโลก เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด ถูกจำกัดจากการเลี้ยวเบนของแสงเท่านั้น (Diffraction Limit) และข้อดีของระบบนี้คือ จะเกิดความคลาดสีเพียงบางส่วน และการรับแสงของดาวฤกษ์จะใช้อุปกรณ์วัดหน้าคลื่น (Wavefront) เพื่อปรับแก้หน้าคลื่นด้วยกระจกสะท้อนที่เปลี่ยนรูปร่างได้ที่ความถี่สูง

        ปัจจุบันห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ประสบความสำเร็จในการแยกแสง ที่มีความแตกต่างระหว่างความสว่างของดาวฤกษ์กับวัตถุที่ต้องการสังเกตการณ์อยู่ที่ประมาณ 10-6  เท่า (หนึ่งในล้านเท่า) ในช่วงระยะ 10-20 รัศมีแอรี (Airy radius) สำหรับแสงความยาวคลื่นเดียว ในช่วงอินฟราเรด ที่ไม่โพลาไรซ์ ขั้นต่อไปจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์อะแดปทีฟออปติกส์กับโคโรนากราฟ และทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อวัดประสิทธิภาพในการใช้ศึกษาสิ่งแวดล้อมของดวงดาว คาดการณ์ว่าจะสามารถใช้งานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะมีการพัฒนาและติดตั้งระบบโคโรนากราฟในรุ่นต่อไปสำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 เมตร) ร่วมกับองค์กรในต่างประเทศ

        การพัฒนาทัศนอุปกรณ์อะแดปทีฟออปติกส์และโคโรนากราฟนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเฉพาะทางบางอย่าง อาทิ กระจกที่สามารถเปลี่ยนการโค้งงอได้ ตัวรับหน้าคลื่น และเครื่องคำนวณแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถใช้ประยุกต์ในด้านเทคโนโลยีเลเซอร์ เทคโนโลยีทางทหาร วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการมองเห็น และการแยกภาพของกล้องจุลทรรศน์ได้อีกด้วย

optic 03

รูปภาพที่ 2 : แผนภาพทางเดินแสงสำหรับ Evanescent Wave Coronagraph

optic 04

รูปภาพที่ 3 : รูปภาพของดาวฤกษ์เมื่อไม่ได้ติดตั้งโคโรนากราฟ (ภาพด้านซ้าย) และหลังจากติดตั้งโคโรนากราฟ (ภาพด้านซ้าย) แสงจากดาวฤกษ์มีความเข้มมากจนตัวรับภาพอิ่มตัวและไม่สามารถตรวจจับวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ (ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกลุ่มฝุ่นผง และอื่นๆ) หลังจากติดตั้งโคโรนากราฟทำให้ส่วนกลางของดาวฤกษ์และส่วนรัศมีมีความสว่างลดลง เราจึงสามารถสังเกตการณ์วัตถุอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงดาวฤกษ์ได้

| Category: การพัฒนาเทคโนโลยี | Hits: 5137