สำหรับคอลัมน์นี้จะขอกล่าวถึงเทคนิคการทำ Polar Alignment ของกล้องโทรทรรศน์ หรืออุปกรณ์ตามดาวที่กำลังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอุปกรณ์ตามดาวก็มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน แต่หลักการก็คือ การปรับให้ฐานตามดาวชี้ไปยังขั้วเหนือของท้องฟ้าได้ถูกต้องที่สุด ซึ่งฐานตามดาวแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นก็จะมีการออกแบบวิธีการทำ Polar Alignment ที่มีความละเอียดแตกต่างกันออกไป คอลัมน์นี้ผมจะขอยกตัวอย่างรูปแบบที่มักเห็นได้ทั่วไป และวิธีดังต่อไปนี้ก็สามารถนำเอาไปปรับใช้ได้ครอบคลุมเกือบกับทุกยี่ห้อ มาเริ่มกันเลยครับ

001

ทำไมต้องทำ Polar Alignment

        ก่อนการถ่ายดาวแบบติดตามวัตถุท้องฟ้าให้แม่นยำนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ตัวอุปกรณ์ตามดาวหรือ ฐานกล้องโทรทรรศน์ชี้ไปที่ขั้วเหนือของท้องฟ้าได้แม่นยำที่สุด (แต่ใครที่อยู่ประเทศทางซีกโลกใต้ ก็ต้องปรับให้ชี้ไปขั้วใต้นะครับ) เนื่องจากดาว และวัตถุท้องฟ้าทุกดวงต่างก็โคจรรอบขั้วเหนือของท้องฟ้าแทบทั้งสิ้น

        ดังนั้น การทำ Polar Alignment ได้แม่นยำเท่าไหร่ เราก็จะสามารถถ่ายภาพได้ยาวนาน โดยที่วัตถุท้องฟ้า ไม่เคลื่อนที่ไปไหน หรือที่เรียกกันว่า “ดาวไม่ยืด” แต่ก่อนจะไปถึงเทคนิคการทำ Polar Alignment ผมจะให้ดูภาพกันก่อนว่า ดาวเหนือนั้นแท้จริงแล้วอยู่ห่างจากขั้วฟ้าเหนือมากแค่ไหน และนี้คือสาเหตุว่าทำไมเราต้องทำ Polar Alignment 

002

        สำหรับผู้ที่พึ่งเริ่มต้นหัดถ่ายดาว มักเข้าใจกันว่า “ดาวเหนือ (Polaris)” ก็คือขั้วเหนือของท้องฟ้า “อันนี้ถูกครึ่งเดียว” เพราะดาวเหนือเป็นเพียงดาวฤกษ์สว่าง ที่อยู่ใกล้กับขั้วเหนือท้องฟ้าเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ดาวเหนือที่เราดูเหมือนว่าใกล้ขั้วเหนือ ก็ยังห่างจากตำแหน่งขั้วเหนือจริงๆ เกือบ 0.7 องศา โดยประมาณ เอาเป็นว่าถ้านึกไม่ออก ลองเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์เต็มดวง ที่เราเห็นนั่นแหล่ะครับ โดยที่ตำแหน่งดาวเหนืออยู่ห่างจากขั้วเหนือมากกว่าดวงจันทร์เต็มดวงซะอีก (ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดเชิงมุม 0.5 องศา) ซึ่งมันห่างมาก

        หากเราใช้แค่ดาวเหนือ เป็นตำแหน่งแทนขั้วเหนือ ก็จะมีคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อการตามดาวที่ไม่แม่นยำ (ดาวยืดชัวร์) ดังนั้น การทำ Polar Alignment ที่ถูกต้องนั้น เราจะใช้ดาวเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้ขั้วเหนือมาเป็นตำแหน่งอ้างอิง เพื่อใช้ประกอบการปรับฐานดาวดาวให้ชี้ไปยังขั้วเหนือท้องฟ้าได้ใกล้ขั้วเหนือมากที่สุดนั่นเอง 

เทคนิคการทำ Polar Alignment สามารถจำแนกออกเป็น 3 วิธีเบื้องต้นดังนี้

003

        โดยทั่วไปช่องมองภาพในกล้องเล็งดาวเหนือ (Polar Scope / Polar Finder) ของฐานตามดาว ก็มักจะมีการแสดงภาพกลุ่มดาว หรือตำแหน่งของดาวเหนือ ซึ่งหลักการในการปรับแผนที่ดาวเหนือ หรือการตั้งค่าตำแหน่งของดาวเหนือ ก็สามารถใช้เทคนิคที่คล้ายๆ กันได้เช่นกัน แต่ก็อาจมีความละเอียดที่ต่างกันบ้าง ดังนี้ 

1. ในกรณีที่ช่องมองภาพในกล้องเล็งดาวเหนือ แสดงกลุ่มดาวค้างคาวและกลุ่มดาวหมีใหญ่ 

004

        ในกรณีนี้ให้ทำการปรับฐานตามดาว ให้ภาพกลุ่มดาวในกล้องเล็งดาวเหนือมีลักษณะเหมือนกับตำแหน่งของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าดังภาพข้างบน จากนั้นก็ทำการปรับฐานให้ดาวเหนือไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง 

2. กรณีที่ช่องมองภาพในกล้องเล็งดาวเหนือ แสดงเพียงตำแหน่งวงกลมของดาวเหนือรอบขั้วเหนือท้องฟ้า

005

        กรณีนี้เราอาจใช้การสังเกตที่กลุ่มดาวหมีเล็ก(Ursa Minor) และลองเส้นสมมุติจากดาวเหนือไปยังดาว Kochab ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหมีเล็ก จากนั้นก็เทียบเคียงตำแหน่งของดาวเหนือตามทิศทางของดาว Kochab ดังภาพข้างต้น และทำการปรับฐานให้ดาวเหนือไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

3. กรณีที่ช่องมองภาพในกล้องเล็งดาวเหนือ แสดงเพียงตำแหน่งวงกลมของดาวเหนือรอบขั้วเหนือท้องฟ้า แต่ตัวฐานตามดาว มีสเกลปรับแผนที่ดาวเหนือมาให้

006

        หากฐานตามดาวมีฟังก์ชั่นการปรับแผนที่ดาวเหนือมาให้แบบละเอียด (แบบนี้ค่อนข้างแม่นยำ) ให้ปรับสเกลเทียบเวลาให้ถูกต้องก่อน ทั้งนี้สเกลชดเชยเวลานั้น ต้องปรับตามตำแหน่งตามแนวเส้นเวลา ซึ่งใช้เส้น Longitude ในการเทียบเวลา เนื่องจากประเทศไทยเราเทียบเวลาที่เส้น Longitude ที่เส้น 105 องศา ดังนั้นหากเราอยู่ที่เส้นเวลาที่ใดๆ ก็ต้องปรับชดเชยเวลาเทียบกับเส้น 105 องศาเสมอ ดังเช่นตัวอย่าง

        จากนั้นก็ปรับ เวลา/วัน/เดือน และปรับระดับน้ำให้ได้ระดับ แล้วตามด้วยการปรับฐานให้ดาวเหนือไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

007

        โดยปัจจุบันฐานตามดาวมักจะสเกลปรับแผนที่ดาวเหนือมาให้ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็อาจแตกต่างกนเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามเทคนิควิธีการ ก็ยังคงใช้หลักการเดียวกันทั้งสิ้น

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำ Polar Alignment 

008

        ถึงแม้ว่าฐานตามดาวอาจมีวิธีการปรับแผนที่ดาวเหนือที่ต่างกัน แต่ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การปรับฐานตามดาว หรือฐานกล้องโทรทรรศน์ ให้ดาวเหนืออยู่ในตำแหน่งอ้างอิงตาม เวลา/วัน/เดือน ที่ถูกต้อง แต่อีกเทคนิคหนึ่งที่ส่วนตัวคิดว่าสำคัญคือ การฝึกฝนการปรับฐานให้ใช้เวลาสั้นที่สุด เนื่องจากในการปรับแผนที่ดาวเหนือตามเวลา ณ ปัจจุบัน ซึ่งดาวเหนือเองก็มีการเคลื่อนที่โคจรรอบขั้วเหนือเช่นกัน ดังนั้น หากเราใช้เวลาปรับนานมากเกินไปหลายสิบนาที ก็จะทำให้การทำ Polar Alignment มีความเคลื่อนที่จากเวลาที่เปลี่ยนไปได้ครับ

        สรุปง่ายๆ ของการทำ Polar Alignment คือ “การปรับแผนที่ดาวเหนือให้แม่นยำที่สุด และใช้เวลาปรับฐานตามดาวให้สั้นที่สุด” เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถถ่ายดาวได้ยาวนานกันแล้วครับ

| Category: บทความภาพถ่ายดาราศาสตร์ | Hits: 10175