นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโบราณวัตถุที่อาจเป็นบันทึกเกี่ยวกับออโรรา (แสงเหนือ-แสงใต้) ที่เก่าแก่ที่สุด ในรูปของแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่ม บริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง

as20191113 4 01

รูปที่ 1 ภาพวาดโดย Y.Mitsuma ที่วาดจากภาพถ่ายแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มที่ถ่ายโดย H.Hayakawa นักวิจัยในงานวิจัยนี้ [Credit ภาพ: Y.Mitsuma]

ในอดีต ก่อนการใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ นักดาราศาสตร์ต้องศึกษาปรากฏการณ์โดยอาศัยบันทึกของผู้สังเกตการณ์รุ่นก่อนหน้า “บันทึกปรากฏการณ์” จึงเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญมากในยุคโบราณ

ไม่นานมานี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่ม 3 แผ่น ที่คาดว่า อาจเป็น “บันทึกปรากฏการณ์แสงออโรรา” ของอาณาจักรอัสซีเรียและบาบิโลเนีย (อาณาจักรโบราณที่มีพื้นที่ในบริเวณประเทศอิรักปัจจุบัน) มีอายุอยู่ในช่วง 680 – 650 ก่อนคริสตกาล กล่าวถึงแสงเรืองบนท้องฟ้าคล้ายกับออโรราที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับผลการวิเคราะห์ทางเคมีของวงปีในเนื้อต้นไม้ บ่งชี้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปะทุอนุภาคมากกว่าปกติ ทำให้เกิดแสงออโรราบนโลกมากกว่าปกติ จึงกล่าวได้ว่ามนุษย์พบเห็นและบันทึกเรื่องออโรราต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 2,700 ปีแล้ว 

“บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับออโรรา ช่วยให้พวกเราทำความเข้าใจประวัติของปรากฏการณ์ที่เกิดบนดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น” ฮิซาชิ ฮายากาวะ (Hisashi Hayakawa) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น และนักวิจัยหลักที่ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องนี้กล่าว

as20191113 4 02

ภาพถ่ายแสดงออโรราสีแดงเหนือสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ.2011 [Credit ภาพ: Tobias Billings]

ก่อนหน้านี้ บันทึกออโรราเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบคือ แผ่นจารึกของบาบิโลเนีย บรรยายถึงแสงเรืองสีแดงบนท้องฟ้า เมื่อ 567 ปีก่อนคริสตกาล  บันทึกโดยโหรชาวบาบิโลเนียและอัสซีเรีย เนื่องจากสมัยนั้นเชื่อกันว่า ปรากฏการณ์ท้องฟ้าสามารถทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้ 

ฮายากาวะและทีมนักวิจัยจึงพยายามหารายงานปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ที่บันทึกก่อนหน้านั้น จนตรวจพบแผ่นจารึกโบราณ 3 แผ่นจากบริติชมิวเซียม สหราชอาณาจักร ที่เข้าข่ายบันทึกตามที่ต้องการ แผ่นจารึกเหล่านี้ทำขึ้นช่วง 680 – 650 ก่อนคริสตกาล บรรยายถึง “แสงเรืองสีแดง” “เมฆสีแดง” หรือ “สีแดงที่ปกคลุมท้องฟ้า” คำกล่าวนี้ใกล้เคียงกับลักษณะตามรายงานการมองเห็นออโรราในบันทึกโบราณช่วงหลังจากนั้น นักวิจัยจึงคาดว่า คำบรรยายบนแผ่นจารึกหมายถึงออโรราสีแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในออโรราสองแบบที่เห็นได้บนโลก

นักวิจัยพบว่า เป็นไปได้ที่โหรชาวบาบิโลเนียและอัสซีเรียสมัยนั้นเห็นออโรราบนท้องฟ้า เนื่องจากขั้วแม่เหล็กของโลกเปลี่ยนตำแหน่งตลอดเวลา ซึ่งพื้นที่ที่เห็นออโรราบนท้องฟ้ามักอยู่ใกล้กับขั้วแม่เหล็กโลก เมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อน ขั้วแม่เหล็กโลกเคยอยู่บริเวณยูเรเชีย (แผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรปและเอเชีย) ใกล้ดินแดนบาบิโลเนีย-อัสซีเรียมากกว่าปัจจุบัน จึงมีโอกาสพบเห็นออโรราได้   

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัยยังเปรียบเทียบช่วงเวลาที่อาจเกิดออโรราเหนือดินแดนบาบิโลเนีย-อัสซีเรียตามแผ่นจารึก กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ (Solar activity) ในช่วงเวลานั้น โดยการวิเคราะห์วงปีเนื้อไม้ด้วยวิธีการทางเคมี ซึ่งในปีที่เกิดการปะทุครั้งใหญ่ ดวงอาทิตย์ปล่อยอนุภาคพลังงานสูงจำนวนมากมายังโลก เนื้อไม้ตรงวงปีของปีนั้นจะมีธาตุกัมมันตรังสีคาร์บอน-14 (อะตอมคาร์บอนที่มีโปรตอน 6 ตัว นิวตรอน 8 ตัว)

นักวิจัยพบว่า เนื้อไม้ตรงวงปีที่เกิดในช่วง 660 ปีก่อนคริสตกาล มีธาตุกัมมันตรังสีคาร์บอน-14 มากกว่าปกติ และเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับอายุของแผ่นจารึกโบราณของบาบิโลเนีย-อัสซีเรียที่กล่าวถึงออโรรา จึงได้ข้อสรุปว่าเนื้อไม้ตรงวงปีบ่งชี้ถึงการปะทุบนดวงอาทิตย์ในช่วงสมัยอาณาจักรบาบิโลเนีย-อัสซีเรีย ที่ทำให้เกิดออโรราที่เห็นได้จากดินแดนแถบนั้น แผ่นจารึกดังกล่าวจึงนับเป็นหลักฐานการสังเกตเห็นออโรราเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบัน

 

ที่มาของข่าว

http://www.astronomy.com/news/2019/10/ancient-middle-eastern-astrologers-recorded-the-oldest-known-evidence-of-auroras 

แปลและเรียบเรียงโดย

พิสิฏฐ นิธิยานันท์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์
ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2246