นักวิจัยพบอนุภาคถูกปลดปล่อยออกจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนู (Bennu)  จากภาพถ่ายของยาน “โอไซริสเร็กซ์ (OSIRIS-Rex)” ขณะยานเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูเพียงสัปดาห์แรก 

as20200326 2 01

https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/jan6event-figure_1a.png

 

ดันเต ลอเร็ตตา (Dante Lauretta) และทีมนักวิจัยใช้เวลาหลายเดือนในการรวบรวมข้อมูลและเฝ้าระวังอนุภาคลึกลับนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของยานโอไซริสเร็กซ์ พบว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูพ่นอนุภาคออกมาครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง คือในวันที่ 6 มกราคม 19 มกราคม  และ 11 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2562 เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นบริเวณขั้วใต้ และเหตุการณ์ที่สองและสามเกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในซีกกลางวันของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนู

อนุภาคที่พุ่งออกมาจะโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูระยะหนึ่ง จากนั้นบางส่วนก็ตกกลับลงไปบนพื้นผิว และบางส่วนหลุดออกไปในอวกาศ อนุภาคเหล่านี้พุ่งออกมาด้วยความเร็ว 3 เมตรต่อวินาที และมีขนาดเพียง 10 เซนติเมตร โดยในวันที่ 6 มกราคมพบอนุภาคมากถึง 200 อนุภาค

นักวิจัยตั้งสมมติฐานสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ไว้ 3 ข้อคือ

สมมติฐานที่ 1 เกิดจากเศษหินขนาดเล็กในอวกาศพุ่งเข้าชน ทำให้พื้นผิวของของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูแตก และกระจายออกไปเป็นอนุภาคขนาดเล็ก

สมมติฐานที่ 2 เกิดจากอุณหภูมิพื้นผิวที่ต่างกันอย่างฉับพลัน เนื่องดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูมีคาบการหมุนรอบตัวเองเพียง 4.3 ชั่วโมง อาจจะทำให้พื้นผิวบางส่วนแตกออกและหลุดออกมาเรียกว่า การแตกตัวด้วยความร้อน (thermal stress fracture)

สมมติฐานที่ 3  เกิดจากน้ำภายในพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบ็นนู ความร้อนอาจทำให้น้ำเดือดและปลดปล่อยแรงดันบริเวณรอยแตกบนพื้นผิว และผลักดันอนุภาคให้ระเบิดออกมา

 

 

อย่างไรก็ตามอาจจะมีกลไกและปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 สมมติฐานข้างต้น หากการแตกเกิดจากความร้อนเป็นสาเหตุสมมติฐานที่ 1  ปรากฏการณ์นี้ก็น่าจะเกิดขึ้นกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นด้วย แต่หากเกิดจากแรงดันของน้ำ ปรากฏการณ์นี้ก็คงจะเกิดขึ้นเฉพาะบนดาวเคราะห์น้อยที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบอย่างเช่นดาวเคราะห์น้อยเบ็นนู

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์น้อยเบ็นนู ถือเป็นโอกาสที่ดีในการศึกษาและเก็บตัวอย่างกลับมายังโลก และเป็นไปได้ว่าเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อยพ่นออกมา อาจถูกเก็บกลับมายังโลก ซึ่งยานโอไซริสเร็กซ์มีแผนที่จะลงไปสัมผัสพื้นผิวและเก็บตัวอย่างดินของดาวเคราะห์น้อยเบ็นนูในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 และจะเดินทางกลับมาถึงโลกในปี พ.ศ. 2566  อาจช่วยไขปริศนาและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยได้มากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

https://www.nasa.gov/feature/goddard/2019/osiris-rex-explains-bennus-mysterious-particles

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 3050