รูปแบบการจัดประชุม

       การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน หรือที่รู้จักกันในชื่อ CAAS แบ่งรูปแบบการเข้าร่วมประชุมเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 : ผู้นำเสนอผลงาน “กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน”

เป็นการเข้าร่วมนำเสนอผลงานของครูผู้สอนดาราศาสตร์ที่มีผลงาน มีกิจกรรมดาราศาสตร์ ที่เคยสอนหรือเคยจัดกิจกรรมมาก่อนหน้านี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมที่ตนเคยจัดกิจกรรมสู่เพื่อนครู และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนครูผู้สอนดาราศาสตร์ เพื่อนำกิจกรรมไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนต่อไป

รูปแบบที่ 2 : ผู้นำเสนอกิจกรรมการอบรม (Workshop) “กิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชั้นเรียน”

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่จะนำเสนอกิจกรรมในห้องเรียนที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชั้นเรียนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในห้องเรียนต่อครูผู้สอนท่านอื่นที่ร่วมการประชุม โดยคณะกรรมการจะดำเนินการคัดเลือกตามความเหมาะสมเพื่อให้ได้กิจกรรม Workshop ที่มีความโดดเด่น  และสามารถเป็นต้นแบบกิจกรรมในอนาคตที่ดีต่อไป

รูปแบบที่ 3 : ผู้เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงาน (แบบไม่นำเสนอผลงาน)

เป็นการเข้าร่วมแบบรับฟังการประชุมอย่างเดียว รูปแบบนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการประชุม เพื่อรับแนวคิดในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในห้องเรียน แต่การเข้าร่วมในรูปแบบนี้จะมีข้อจำกัดในการสนับสนุนการเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ทางสถาบันฯ กำหนด

*** การให้การสนับสนุน

  1. ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการนำเสนอผลงาน เฉพาะรูปแบบที่ 1 และ รูปแบบที่ 2 จะได้รับเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่าท่านได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานในงาน “การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน” และการสนับสนุน อาหารว่าง อาหารกลางวัน อาหารเย็น และที่พัก(ผู้จัดประชุมจัดหาให้) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2567 (2 คืน) ยกเว้น ค่าเดินทางจากภูมิลำเนามายังสถานที่จัดประชุม จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหรือเบิกจ่ายจากหน่วยงานต้นสังกัด
  2. ผู้เข้าร่วมฟังการประชุม รูปแบบที่ 3: แบบไม่นำเสนอผลงาน สามารถเข้าร่วมการประชุมได้โดยไม่เสีย       ค่าลงทะเบียน และได้รับการสนับสนุนเฉพาะอาหารว่าง และอาหารกลางวัน ระหว่างการประชุม สำหรับ    ค่าใช้จ่ายในส่วนของ ค่าอาหารเย็น ค่าที่พัก และค่าเดินทางจากภูมิลำเนา ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหรือเบิกจ่ายจากหน่วยงานต้นสังกัด



ขอบเขตและการพิจารณาเข้าร่วมการประชุม

รูปแบบที่ 1 : การนำเสนอผลงาน “กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน” จำนวน 60 ผลงาน

1.1 กิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน

- กิจกรรมดาราศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดย ครู นักเรียน หรือสมาชิกในชมรมดาราศาสตร์
- มุ่งเน้นพัฒนาความรู้ และความเข้าใจทางดาราศาสตร์ แก่ นักเรียนในโรงเรียน/ต่างโรงเรียน
ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การสร้างสื่อ/อุปกรณ์ดาราศาสตร์, งานวันวิทยาศาสตร์, ค่ายดาราศาสตร์, กิจกรรมดูดาว, การสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน, หรือการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในรูปแบบอื่นๆ

การนำเสนอ 

- เลือกนำเสนอ กิจกรรมเด่นหรือกิจกรรมที่น่าสนใจเพียง 1 กิจกรรม ประกอบด้วย ชื่อกิจกรรม, วัตถุประสงค์, ผู้เข้าร่วมกิจกรรม, รูปแบบ/เนื้อหากิจกรรม, ผลที่ได้รับ, จุดเด่น,    ผลการดำเนินกิจกรรม, ความแปลกใหม่, ความน่าสนใจ และอื่นๆ
- กิจกรรในภาพรวมตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา (พ.ค. 66 - เม.ย. 67)

1.2 กิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชน

- กิจกรรมดาราศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดย ครู นักเรียน หรือสมาชิกในชมรมดาราศาสตร์
- เปิดโอกาสและกระตุ้นความสนใจดาราศาสตร์ แก่ ประชาชนทั่วไป/คนในชุมชน ได้มีส่วนร่วม 

ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์, กิจกรรมตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญ ในพื้นที่ชุมชน/พื้นที่ห่างไกล, จัดกิจกรรมดูดาวในช่วงเทศกาลต่างๆ, กิจกรรมดาราศาตร์สู่ชุมชน หรือการจัดนิทรรศการดาราศาสตร์

การนำเสนอ 

- เลือกนำเสนอ กิจกรรมเด่นหรือกิจกรรมที่น่าสนใจเพียง 1 กิจกรรม ประกอบด้วย ชื่อกิจกรรม, วัตถุประสงค์, รูปแบบกิจกรรม, จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม, ผลการดำเนินกิจกรรม, วัตถุท้องฟ้า, จุดเด่น, ความคิดสร้างสรรค์ และความน่าสนใจของกิจกรรม
-  กิจกรรในภาพรวมตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา (พ.ค. 66 - เม.ย. 67)

1.3 กิจกรรมศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน

- กิจกรรมการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบโครงงานดาราศาสตร์ โดยที่
- ครู ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาโครงงาน แก้ปัญหาหรือ  ข้อสงสัยของนักเรียน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การนำเสนอ 

- นำเสนอ แผนการดำเนินโครงงานดาราศาสตร์ ในช่วง 1 ปีการศึกษา ที่ผ่านมา (พ.ค. 66 - เม.ย. 67)
- นำ ตัวอย่างโครงงานที่น่าสนใจมาช่วยอธิบายถึง ภาพรวมของการดำเนินงาน และผลที่นักเรียนได้รับจากการศึกษาโครงงาน ตัวอย่างเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น บทบาทของครูที่ปรึกษาโครงงาน, การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ, แนวทางการศึกษาโครงงาน การวางแผนการศึกษาโครงงาน, ปัญหา/อุปสรรค, และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาโครงงาน

รูปแบบที่ 2 : นำเสนอกิจกรรมอบรม (Workshop) “กิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชั้นเรียน”  จำนวน  3-5 กิจกรรม

คือการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวทางการสอนดาราศาสตร์สำหรับครู ด้วยกิจกรรมเชิงปฎิบัติการทางดาราศาสตร์ เช่น STEM, Active learning หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสอนดาราศาสตร์อื่นๆ            ในห้องเรียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจและพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์มากขึ้น

การนำเสนอ 

- ต้องนำเสนอ และสาธิตกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในแก่ผู้เข้ารวมกิจกรรม
- อธิบายขั้นตอน หรือกระบวนการของกิจกรรมโดยละเอียด ประกอบด้วย
- ชื่อกิจกรรม, วัตถุประสงค์กิจกรรม, อุปกรณ์, ระยะเวลากิจกรรม, กลุ่มเป้าหมาย, ขั้นตอนการเรียนรู้ ฯลฯ

รูปแบบที่ 3 : เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงาน (แบบไม่นำเสนอผลงาน) จำนวน 40 คน

* การประชุมนี้เปิดโอกาสให้ครูที่สนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงาน เพื่อหาแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนต่อไป