เกี่ยวกับโครงการ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ได้ดำเนินการตามพันธกิจในการบริการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ตามกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การจัดอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้และทักษะทางดาราศาสตร์สำหรับครู เพื่อนำไปถ่ายทอดส่งต่อความรู้และประสบการณ์สู่นักเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทางดาราศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์สำหรับนักเรียนและเยาวชน เพื่อถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นทางดาราศาสตร์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์ทางดาราศาสตร์ อันจะช่วยจุดประกายความคิด สร้างจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนัก ส่งเสริมบรรยากาศและความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และส่งเสริมให้คนไทยมีความสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งสื่อดาราศาสตร์ อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ และวิทยากรบรรยาย อีกด้วย
ที่ผ่านมากิจกรรมการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ ยังไม่สามารถให้บริการได้เข้าถึงบุคคลทุกระดับ โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ที่ขาดโอกาสในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์เนื่องจากอยู่ในถิ่นห่างไกล ขาดแคลนงบประมาณ ขาดอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งขาดบุคลากรที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ สดร. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการกระจายโอกาสทางการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน สร้างกลุ่มโรงเรียนให้เป็นเครือข่ายแกนนำในการจัดกิจการเรียนรู้และกิจกรรมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน สร้างเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมทางดาราศาสตร์เป็นสื่อกลาง แล้วก้าวไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้อย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงดำเนินโครงการ “กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์” โดยสนับสนุนกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ขนาด 10 นิ้ว พร้อมสื่อและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอนแก่โรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน พัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น และใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า รวมไปถึงกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ตลอดจนเป็นการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของโครงงาน เกิดการสร้างโครงงานดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้อย่างกว้างขวางในอนาคต