สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก ปีนี้โอกาสดี ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง 

pr20201016 2 01

 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน” จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน ของทุกปี ในปีนี้คาดว่ามีอัตราการตกสูงสุดในคืน 21 - 22 ตุลาคม 2563 สามารถสังเกตเห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม 2563  มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ทางทิศตะวันออก บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง

นายศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีของการเฝ้ารอชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์”  เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 22:00 น. จึงสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกโอไรออนิดส์ได้ตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้า แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิทเพื่อให้แสงรบกวนน้อยที่สุด สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า


pr20201016 2 02

 

การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพราน ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก แม้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชมและถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพฝนดาวตก สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เราเห็นดาวตกวิ่งช้าและมีโอกาสถ่ายภาพฝนดาวตกหางยาวได้ง่าย นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

 

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250 

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand

Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โทร. 1313