สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ “Astronomy Insight” และ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมให้บริการตั้งแต่ 27 มีนาคมนี้ และชวนเที่ยวงานมหกรรมดาราศาสตร์ประจำปี 2564  NARIT AstroFest 2021 จัดเต็มหลากหลายกิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับทุกเพศทุกวัย ลุ้นรับกล้องโทรทรรศน์และรางวัลพิเศษมากมายภายในงาน พร้อมเตรียมมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวัง โควิด 19 เต็มรูปแบบ

pr20210324 1 01

 

          ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุทยานดาราศาสตร์      สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการดาราศาสตร์ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา    ในปีนี้  สดร. เตรียมเปิดนิทรรศการดาราศาสตร์โซนใหม่ ในชื่อชุด Astronomy Insight  มีแนวคิดต่อยอดจากนิทรรศการชุดเดิม​ที่จัดแสดงอยู่  นำเสนอองค์ความรู้ดาราศาสตร์เชิงลึกมากขึ้น รวมถึงหลักการและวิธีการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ถ่ายทอดผ่านอุปกรณ์การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสนุกกับการเรียนรู้ และมองเห็นภาพการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ประโยชน์ของการศึกษาดาราศาสตร์และการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับนิทรรศการดาราศาสตร์ชุดใหม่ แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ๆ ได้แก่ 

pr20210324 1 02

          โซนที่ 1 นำเสนอเรื่องราวของพื้นฐานฟิสิกส์ดาราศาสตร์เกี่ยวกับแสง อาทิ การกระเจิงแสง การหักเห      ของแสง และการรวมแสงมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ 

          โซนที่ 2 ชวนมาพิสูจน์ทฤษฎีทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง ผ่านอุปกรณ์จำลองหลักการและตัวอย่างการสร้างชิ้นงานทางดาราศาสตร์  อาทิ อัตราเร็วเสียง กล้องรูเข็ม นาฬิกาแดด การสร้างกระจกกล้องโทรทรรศน์ ดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น รังสีอินฟราเรด และการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

          โซนที่ 3 ตัวอย่างการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์เชิงลึก อาทิ การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หลุมดำ ขอบเขตของเอกภพ หรือการศึกษาปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ที่ช่วยยืนยันว่าสสารมืดมีอยู่จริง

          โซนที่ 4 นำเสนอเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านสื่อการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ

          นอกจากนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ยังได้ต่อยอดสร้างพื้นที่การเรียนรู้ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร บนพื้นที่กว่า 1,430 ตารางเมตร ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนิทรรศการดาราศาสตร์ของ สดร. ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ตาม อพวช. ยังคงขับเคลื่อนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเยาวชนและคนไทยทั่วประเทศ ในการเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ขึ้นที่ จ. เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” เราได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในการเข้ามาตั้งแหล่งเรียนรู้อยู่ในพื้นที่ของ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่

          ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันเราเปิดให้บริการ 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่คลองห้า ปทุมธานี และล่าสุดกับแหล่งเรียนรู้ใจกลางกรุง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” กรุงเทพฯ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการกระจายโอกาสด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปสู่วงกว้างมากขึ้น

          สำหรับ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ด้านอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เรียนรู้ทักษะสู่อาชีพแห่งอนาคต ผ่านนิทรรศการสื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย อาทิ เปิดเส้นทางสายอาชีพนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาใน The Career of the Future  กิจกรรม Inspire Lab ห้องทดลองที่ทดลองแล้วจะได้เห็นผลด้วยตัวเองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกิจกรรม Innovation Space พื้นที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และปลดปล่อยจินตนาการในการออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นต้น อพวช. หวังว่าแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนในระดับภูมิภาคของภาคเหนือ ที่เปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังจะเป็นสถานที่ที่จะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับทุก ๆ คนในครอบครัวในการได้เล่น เรียนรู้ และได้ใช้เวลาร่วมกัน 

          พิเศษสุด! สำหรับในช่วงเปิดตัวเราเปิดให้เข้าชมนิทรรศการฟรี! จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้ เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันศุกร์  09.00 – 16.00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ 10.00 – 17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 093 745-8550

          ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. เตรียมจัดงานมหกรรมดาราศาสตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี  NARIT AstroFest 2021 วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 เวลา 09:00-22:00 น. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นอกจากจะเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ Astronomy Insight และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ พร้อมให้บริการประชาชนในวันดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย  อาทิ 

-        หนึ่งปีมีครั้งเดียวกับการเปิดหลังบ้านชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สุดล้ำ : ศึกษาวัตถุใกล้โลกผ่านท้องฟ้าจำลองสามมิติ เครื่อง CMM ละเอียดแค่ไหนก็วัดได้ จากดาราศาสตร์สู่เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง CNC สรรสร้างชิ้นงานความละเอียดสูง อยู่ที่ไหนก็ดูดาวได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ระยะไกลอัตโนมัติ สถานีหุ่นยนต์ล้างกระจก ฯลฯ

-        ครั้งแรกกับการเปิดห้องวิจัยดาราศาสตร์ : ห้องแล็บใหญ่ที่เรียกว่าโลก เรียงร้อยเรื่องดาว ยอดนักสืบ     ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ผจญภัยในอวกาศด้วยแว่น VR 3D สำรวจจักรวาลผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุ      จากญี่ปุ่น ฯลฯ

-        เรียนรู้เทคโนโลยีการรับสัญญาณจากดาวเทียม : เสียงกระซิบจากฟากฟ้า

-        Astronomy Fun Fair เกมดาราศาสตร์แสนสนุก : ยิงกระสวยอวกาศจิ๋ว ปาโป่ง Big Bang! โยนวงแหวนดาวเคราะห์ อุกกาบาตปะทะขยะอวกาศ

-        กิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับเด็ก และครอบครัว : แต่งสีแต้มฝันปันดาว ภารกิจพิชิตดวงจันทร์

-        เสวนาพิเศษ “ผู้หญิงในแวดวงดาราศาสตร์”

-        ช่วงค่ำ ชมดาวเคล้าเสียงเพลง :  ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น และวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เพลินเพลินกับกาดดารา สารพันสินค้าอาหารในธีมดาราศาสตร์

-      ลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษ : กล้องโทรทรรศน์ และของรางวัลมากมาย


          มหกรรมดาราศาสตร์ในปีนี้ สดร. ได้ขยายไปส่วนภูมิภาคด้วย จัดพร้อมกัน 4 แห่งได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/NARITpage หรือ สอบถามโทร 081-8854353

 

 

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.   Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand