ในคอลัมน์นี้ก็อนุญาตแชร์ภาพถ่ายดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงไกลโลกมากที่สุดในรอบปี โดยเรามักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Micro Full Moon” ซึ่งภาพข้างต้นนั้น ก็เป็นภาพถ่ายที่ได้วางแผนการถ่ายภาพไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งกว่าจะได้ภาพดวงจันทร์ในช่วง Super Full Moon เปรียบเทียบกับ Micro Full Moon ก็ต้องรอกันอีก 8 เดือน กันเลยทีเดียว

001

ภาพถ่ายเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงไกลโลกที่สุดในรอบปี กับดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562

        ภาพดวงจันทร์ไกลโลก ดังกล่าว ดวงจันทร์มีไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,235 กิโลเมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงไกลโลกที่สุดในครั้งนี้จะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าขนาดดวงจันทร์ปกติประมาณ 5.3% โดยครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างประมาณ 406,170 กิโลเมตร

        โดยการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ ในตำแหน่งดวงจันทร์ไกลโลก กับดวงจันทร์ใกล้โลกนั้น “เราต้องใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพชุดเดียวกันในการถ่ายภาพ” เพื่อให้เห็นขนาดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาเปล่านั้น แทบแยกไม่ออกว่าดวงจันทร์ในคืนวันไกลโลกมากที่สุด มีขนาดเล็กลง จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ชุดเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบขนาด

เกร็ดความรู้ 

002

ตัวอย่างแผนภาพแสดงตำแหน่งจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด  เรียกว่า เปริจี (Perigee) และจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) 

       ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

        โดยความพิเศษของปรากฏกาณณ์ Micro Full Moon คือ “ต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น” แล้วอยู่ในระยะห่างเฉลี่ยมากกว่า 406,000 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นวงรีนั้น ถึงแม้ในแต่ละเดือนจะมีช่วงที่อยู่ใกล้โลกน้อยกว่า 357,000 กิโลเมตร หรืออยู่ไกลโลกมากกว่า 406,000 กิโลเมตร แต่ก็มักไม่ใช้ช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง เพราะสิ่งที่นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญและให้ความสนใจก็คือ “เฉพาะช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น 

        ดังนั้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้งนัก ปีหนึ่งๆ จะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉลี่ย 1-2 ครั้ง เท่านั้น

003

        นอกจากการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดแล้ว เรายังสร้างสรรค์ภาพถ่ายดวงจันทร์ในรูปแบบต่างๆ ได้เช่นกันครับ โดยอุปกรณ์สำคัญในการถ่ายภาพดวงจันทร์ก็คือ เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ซึ่งจะได้กำลังขยายมากๆ และทำให้ได้รายละเอียดของดวงจันทร์ได้ดีที่สุดครับ

เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงอย่างง่าย 

1. เลือกใช้เลนส์ถ่ายภาพแบบซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อให้ได้กำลังขยายสูงๆ

2. เลือกโหมดการถ่ายภาพแบบManual หรือโหมด M เพื่อสะดวกในการตั้งค่าต่างๆ

3. ใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/5.6- f/8.0 โดยประมาณ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดทั่วทั้งภาพ

4. ใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพ เช่น หากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 800 mm. ก็ควรใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/800s หรือมากกว่า เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว

5. ใช้ค่าความไวแสง หรือค่า ISO ที่เหมาะสมที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนภาพดวงจันทร์ขาวสว่างโอเวอร์ หรือมืดจนอันเดอร์ ซึ่งการปรับค่า ISO นั้น อาจเริ่มต้นใช้ที่ ISO : 400 เป็นค่าเริ่มต้น แล้วทดลองถ่ายภาพดูว่าภาพสว่างหรือมืดเกินไป ก็สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดดีที่สุด

6. สุดท้ายคือการถ่ายบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงจะดีที่สุด และหากเลนส์ที่เราใช้ถ่ายภาพมีระบบกันสั่น ก็ต้องปิดระบบ เมื่อถ่ายบนขาตั้งกล้อง แต่หากถ่ายด้วยการถือด้วยมือเปล่าระบบกันสั่นนี้ก็ควรตองเปิดไว้ครับ

004

ตัวอย่างการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวง ให้ได้แสงสว่างที่พอดีและเห็นรายละเอียดของกลุมอุกกาบาตที่ชัดเจน