ความเป็นมา

        ในปีพุทธศักราช 2552 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ได้เริ่มใช้งานกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ (Thai National Telescope, TNT) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่ถูกจัดสร้างและติดตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้วิทยาการและงานวิจัยดาราศาสตร์ของไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง สดร. ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union, IAU) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ภายใต้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ด้วย ข้อมูลเพิ่มเติม www.narit.or.th 

10หน้าหลัก fig1 RT
รูปที่ 1 กล้องโทรทรรศน์วิทยุในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก (ที่มา: บริษัท วิจัยแลออกแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะสม จำกัด)


ความเป็นมาและจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี

        ประเทศไทยได้มีการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทางดาราศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2555 มีการถ่ายภาพแสงแรกในประเทศไทยด้วยกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ สิ่งนี้เป็นการตั้งระดับมาตรฐานให้กับดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

       โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี (Radio Astronomical Network and Geodesy for Development, RANGD) หรือเรียกสั้น ๆ ตามตัวย่อภาษาอังกฤษว่า “โครงการแรงดี” เป็นหนึ่งในโครงการหลักของ สดร. ในช่วงที่สอง (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของดาราศาสตร์สาขาอื่นที่มีมากขึ้น ดาราศาสตร์วิทยุจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกับดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น

10หน้าหลัก fig2 ช่วงคลื่น 
รูปที่ 2 ภาพจำลองการสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นต่าง ๆ (ที่มา: STScI / JHU / NASA)

ด้วยดาราศาสตร์วิทยุสามารถปฏิบัติการได้อย่างหลากหลาย ในการตรวจวัดสัญญาณจากเอกภพ เครื่องมือรับสัญญาณ ของศาสตร์นี้คือกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (Radio Telescope) สามารถตรวจวัดโมเลกุลและแก๊สที่ถูกบดบังด้วยฝุ่นในอวกาศ อีกทั้งยังสามารถทำงานได้ในเวลากลางวัน หรือแม้กระทั่งขณะที่สภาพอากาศบบนโลกไม่เหมาะสม เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุทำการสังเกตการณ์ในช่วงสัญญาณคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า จึงทำให้สามารถทำงานได้เกือบตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีข้อจำกัดเหมือนกล้องโทรทรรศน์ปกติ ซึ่งคุณสมบัตินี้เอง จะสามารถเติมช่องว่างของดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย