สถานีติดตามสัญญาณรบกวนต่อเนื่อง

        อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการทำงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ก็คือสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุบริเวณสถานที่ตั้งกล้องฯ เครื่องรับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ จะทำหน้าที่รับคลื่นวิทยุในช่วงความถี่ต่าง ๆ จากวัตถุอ้างอิงที่อยู่ไกลออกไปในห้วงอวกาศ​เพื่อนำไปประมวลผลให้ได้ผลลัพธ์ทั้งทางดาราศาสตร์และยีออเดซีต่อไป

        ดังนั้นหากบริเวณที่ตั้งกล้องฯ มีสัญญาณจากแหล่งกำเนิดอื่นบนโลกในความถี่ช่วงเดียวกับที่ต้องการใช้งาน เครื่องรับสัญญาณก็จะถูกรบกวน จนอาจจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการสังเกตการณ์ของกล้องฯ เกิดความผิดพลาด ยิ่งโดยปกติแล้ว คลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดบนโลก อาทิ การโทรคมนาคม นั้นสัญญาณมีความเข้มกว่าจากแหล่งกำเนิดที่ต้องการสังเกตการณ์ถึงระดับ 1015 หากถูกสัญญาณระดับนี้รบกวน ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลจากการสังเกตการณ์ไปประมวลผลต่อได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุของพื้นที่ที่จะจัดสร้างกล้องฯ เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่มีสัญญาณรบกวน หรือเป็นบริเวณที่สามารถตรวจสอบที่มาของสัญญาณรบกวน และทำการจัดการไม่ให้รบกวนการสังเกตการณ์ของกล้องฯ ได้ ทำให้กล้องฯ สามารถทำงานได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อสร้างแล้วเสร็จ

        โครงการแรงดี (RANGD: Radio Astronomical Network and Geodesy for Development) ได้มีการทำการตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุของหลายบริเวณในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อเลือกสถานที่จัดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุของโครงการ เช่น พื้นที่ในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, พื้นที่ในอำเภอแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, พื้นที่บ้านแม่ดอกแดง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดคลื่นวิทยุประกอบขึ้นจาก เครื่องวิเคราะห์สเปกตรัม (Spectrum Analyser) R&S ZVL6 สายอากาศเฉพาะทิศทาง (Directional Antenna) R&S HE300 รับสัญญาณช่วง 20 MHz ถึง 6 GHz, เครื่องขยายสัญญาณรบกวนต่ำ (Low Noise Amplifier, LNA) และ a low loss about 2-feet cable โดยทำการติดตั้งดังภาพด้านล่าง

33rfi fig1 setting

และมีการใช้เครนยกชุดสายอากาศขึ้นสูง 30 เมตรจากพื้นดิน โดยทำการควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาผ่านสาย อีเธอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุ ณ ความสูงที่ใกล้เคียงกับความสูงจริงของกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 40 เมตร ที่จะทำการสร้าง

        จากผลการตรวจสอบของพื้นที่ทั้งหมด จึงได้เลือกบริเวณของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ในการทำการจัดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุของโครงการแรงดี เพราะมีสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุที่เหมาะสม (รายละเอียดเพิ่มเติมในโปสเตอร์ คลิก) แล้วยังมีแผนที่จะตรวจสอบสัญญาณอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลสภาพแวดล้อมทางคลื่นวิทยุ ตั้งแต่ก่อนโครงการ ระหว่างดำเนินการสร้าง ไปจนกระทั่งโครงการแล้วเสร็จ และกล้องฯ เริ่มปฏิบัติการ นอกเหนือจากนั้นยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาชุดอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบสัญญาณให้เป็นระบบอัติโนมัติ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติการ ทั้งกับโครงการแรงดีและเป็นประโยชน์ต่องานอื่น ๆ ต่อไป