ภาพถ่ายหอดูดาวซีกฟ้าใต้ (ออสเตรเลีย)
NGC 5128
#กาแล็กซีเซนทอรัสเอ เป็นกาแล็กซีรูปเลนส์ ปรากฏในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 10-16 ล้านปีแสง
เป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ในซีกฟ้าใต้ ผู้สังเกตจากซีกโลกใต้จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้เช่นกัน แต่จะปรากฏสูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก เป็นกาแล็กซีที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 5 บนท้องฟ้า จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักดาราศาสตร์สมัครเล่น เมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จะพบลักษณะปรากฏที่ชัดเจน คือ แถบมืดพาดผ่านตรงกลาง เป็นแถบฝุ่นแก๊สตามระนาบจานของกาแล็กซี คอยกรองแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ภายใน
นอกจากนี้ ยังเป็น #กาแล็กซีวิทยุที่อยู่ใกล้โลกที่สุด (Radio galaxy: กาแล็กซีที่มีกำลังส่องสว่างของคลื่นวิทยุในช่วง 10-100 กิกะเฮิรตซ์ มากถึง 1 พันล้านล้านล้านล้านล้านล้านวัตต์ หรือ 10^39 วัตต์) จึงเป็นที่นิยมศึกษากันมากในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ใจกลางกาแล็กซีเซนทอรัส เอ เป็นนิวเคลียสกาแล็กซีกัมมันต์ (Active galactic nucleus: บริเวณเล็กๆใจกลางกาแล็กซีที่ปล่อยพลังงานมากกว่าพลังงานของดาวฤกษ์ทั้งหมดในกาแล็กซีหลายเท่า)
ภาพ : ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์/ กีรติ คำคงอยู่
บันทึกโดย : กล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ NARIT ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค รีเสิร์ช ประเทศออสเตรเลีย
TRT-SBO/ CDK17/ FLI16803