ที่มา
“สภาพอากาศ” เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนวิสัยในการมองเห็น รวมทั้งยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ใช้กำหนดการเริ่มต้น และสิ้นสุดการปฏิบัติงานในแต่ละคืน NARIT จึงติดตั้ง “ชุดตรวจวัดสภาพอากาศไร้สาย” ในบริเวณหอดูดาวของสถาบันฯ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการใช้กล้องโทรทรรศน์ ในระยะแรก ได้จัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศจากต่างประเทศ แต่ด้วยคุณลักษณะของอุปกรณ์ที่เฉพาะทาง มีการใช้งานแบบ Real-Time Mesuring และปัจจัยต่างๆ ที่อุปกรณ์ตามท้องตลาดไม่รองรับ จึงเป็นอุปสรรคในการจัดหา ใช้งบประมาณสูง และยังมีข้อจำกัดด้านการซ่อมบำรุง NARIT จึงมีแนวคิดในการเริ่มต้นพัฒนา “ชุดตรวจวัดสภาพอากาศ” เพื่อการประยุกต์ใช้งานที่เหมาะสม และการพัฒนาต่อยอดที่มีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
สร้าง “ชุดตรวจวัดสภาพอากาศ” ที่มีความคงทน มีความแม่นยำ มีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล มีความสามารถในการวัด และบูรณาการข้อมูลให้อยู่ในหน่วยวัดที่เข้าใจง่าย และเป็นมาตรฐาน สอดคล้องความต้องการของผู้ใช้งาน และมีความสามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์แบบไร่้สาย
ลักษณะเฉพาะของผลงาน
- ความแม่นยำในการตรวจวัดสูง - การออกแบบด้วยการสื่อสารแบบไร้สายและรองรับการเชื่อมต่อแบบ Multiple Sensor Node ทำให้การตรวจวัดค่าจากเซนเซอร์มีได้มากกว่า 1 ตัว ดังนั้นข้อมูลในการตรวจวัดจึงถูกนำมาประมวลผลเพื่อเพิ่มความแม่นยำได้
- ระบบแจ้งเตือนการทำงานผิดพลาด - ระหว่างการทำงานอุปกรณ์อาจถูกรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ เช่น ฟ้าผ่า กระแสไฟชำรุด การกระแทก การกระทบเทือน ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ ดังนั้นการติดตั้งระบบแจ้งเตือนการทำงานผิดพลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การตรวจวัดมีความต่อเนื่องและลดระยะเวลาการตรวจสอบจากช่างผู้ดูแล
- การตั้งค่าที่สะดวกรวดเร็วไม่ซับซ้อน - การตั้งค่าก่อนการใช้งานเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่ต้องกำหนดให้ถูกต้องก่อนการเริ่มเก็บข้อมูล เนื่องจากการประมวลผลบางอย่างของอุปกรณ์จำเป็นต้องให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูล เช่น ค่าความกดอากาศ ค่าความสูงจากระดับน้ำทะเลก่อนการใช้งาน การอัพโหลดข้อมูลการตรวจวัดไปยังปลายทาง เป็นต้น ดังนั้นการสร้างเครื่องมือสำหรับตั้งค่าที่สามารถเข้าใจได้ง่ายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
- เหมาะสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ที่ทุรกันดาร - พื้นที่สำหรับการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์หลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าและเขตห่างไกล เนื่องจากต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีปราศจากแสงรบกวนเพื่อสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นตัวอุปกรณ์จึงถูกออกแบบให้วงจรภายในใช้พลังงานน้อยที่สุด รองรับการใช้งานร่วมกับเซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมถึงตัวเครื่องลูกข่ายที่สามารถติดตั้งได้ห่างจากเครื่องแม่ข่ายหลายร้อยเมตร ผู้ใช้งานจึงสามารถกระจายเครื่องลูกข่ายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ในบริเวณกว้าง
- รองรับการส่งออกข้อมูลที่หลากหลาย - เครื่องแม่ข่ายสามารถส่งออกข้อมูลการวัดผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ FTP, File Sharing, Cloud Storage, Web Protocol, Database Synchronization และ SDK
- รองรับการพัฒนาต่อยอด - เครื่องแม่ข่ายสามารถรองรับการพัฒนาต่อยอดผ่านช่องทาง SDK เพื่อปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของตัวอุปกรณ์ได้ตามต้องการ สามารถเรียกรับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และสามารถเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการวัดได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
บริบทในท้องตลาด
อุปกรณ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป รองรับการเชื่อมต่อกับเซนเซอร์ตรวจวัดเพียงแค่ 1 ตัวต่อ 1 ชนิดการวัด ดังนั้นหากเซนเซอร์เสียค่าการตรวจวัดจะคงค้างอยู่เช่นนั้นจนกว่าผู้ใช้จะตรวจสอบพบด้วยตนเอง ไม่มีระบบแจ้งเตือนข้อผิดพลาด และไม่รองรับการพัฒนาต่อยอด
มูลค่าปัจจุบันของท้องตลาด
ประมาณ 300,000 บาท
ราคาต้นทุน
ประมาณ 250,000 บาท
การต่อยอดนวัตกรรม/ ขยายผลเชิงพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรม
สามารถรองรับงานที่ต้องใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในการอ้างอิง หรือศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เช่น งานด้านอุตุนิยมวิทยา งานสารสนเทศทรัพยากรน้ำ งานชลประทาน ฯลฯ
ทีมพัฒนาผลงาน
นายกฤษฎา ปาลี วิศวกร
นางสาวถลัชนันท์ สลัดทุกข์ วิศวกร
นายจักรพันธ์ุ กิตกรอง วิศวกร
นายนฤเบศ โกมล วิศวกร
นายอนุพงษ์ อินปัน วิศวกร
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ ศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรม
E-mail: [email protected]