ที่มา
การศึกษาด้านดาราศาสตร์สามารถศึกษาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ในหลากหลายย่านความถี่ โดยช่วงคลื่นหนึ่งที่สำคัญได้แก่ช่วงคลื่นวิทยุ จึงทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณด้านดาราศาสตร์วิทยุขึ้น โมดูลหนึ่งที่สำคัญของอุปกรณ์รับสัญญาณดาราศาสตร์วิทยุได้แก่ ระบบรับสัญญาณส่วนแรกภายใต้ระบบความเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25K เพื่อลดสัญญาณรบกวนจากภายนอก และลดสัญญาณรบกวนที่อาจเกิดจากอุปกรณ์รับสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายในระบบ ระบบรับสัญญาณส่วนแรกนี้จึงมีความเซนซิทีฟสูงซึ่งทำให้สามารถรับสัญญาณจากวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มีกำลังสัญญาณน้อยมากจากการเดินทางจากเเหล่งกำเนิดที่มีระยะไกลหลายล้านปีแสงมายังพื้นโลก
การออกแบบพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ในไทย และยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของวิศวกรด้านการออกแบบเทคโนโลยีขั้นสูงในหลากหลายสาขาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
วัตถุประสงค์
เพื่อออกแบบและสร้างอุปกรณ์รับสัญญาณทางด้านดาราศาสตร์สำหรับติดตั้งภายในระบบรับสัญญาณส่วนแรกภายใต้ระบบทำความเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25K
ลักษณะเฉพาะของผลงาน
Module Prototype สำหรับระบบทำความเย็นยิ่งยวด (Cryogenic System) ประกอบไปด้วย
- ตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมด (OMT): เป็นวงจรสำหรับแยกโพลาไรเซชัน ทำหน้าที่แยกโพลาไรเซชันแบบ Right Hand Circular และ Left Hand Circular ออกจากกัน เนื่องจากสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากแหล่งกำเนิดในอวกาศจะมาในรูปของโพลาไรเซชัน 2 องค์ประกอบที่ตั้งฉากกัน อุปกรณ์ชุดนี้จะทำหน้าที่แยก 2 องค์ประกอบนี้ออกจากกันเพื่อนำไปวิเคราะห์สัญญาณ ลักษณะของอุปกรณ์เป็นวงจรแบบ 3 พอร์ต พอร์ตที่หนึ่งเป็น สัญญาณขาเข้า ส่วนพอร์ตที่สองและพอร์ตที่สามเป็นสัญญาณขาออกที่ถูกแยกออกเป็นแต่ละโพลาไรเซชัน
- วงจรเลื่อนเฟส (Phase Shifter): ทำหน้าที่เลื่อนเฟสของสัญญาณให้ได้เท่ากับ 90 องศา เนื่องจากผลต่างของเฟสในแต่โพลาไลเซชันแบบ Right Hand Circular และ Left Hand Circular มีค่าต่างกัน 90 องศา ทำให้ต้องมีวงจรเลื่อนเฟส เพื่อให้เฟสของสัญญาณวิทยุที่ได้มีค่าเท่ากัน
- วงจรกรองสัญญาณผ่านแถบ: ทำหน้าที่กรองสัญญาณให้ได้ความถี่ช่วงที่ต้องการ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นวงจรกรองแบบ Iris สามารถกรองความถี่ให้ผ่านในย่าน 33 - 50 GHz สำหรับตัวรับสัญญาณย่าน Q ที่ NARIT กำลังพัฒนาขึ้นในอนาคต
- ชุดประกอบฟีดฮอร์นรับสัญญาณ: เป็นชุดประกอบสำหรับความถี่ 33 - 50 GHz สำหรับตัวรับสัญญาณย่าน Q ประกอบไปด้วยฟีดฮอนซึ่งเป็นอุปกรณ์พาสซีฟส่วนหน้าสุดทำหน้าที่เป็นช่องเปิดรับสัญญาณ ประกอบเข้ากับ Circular to regtangular adapter วงจรเลื่อนเฟส ตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมด และวงจรกรองสัญญาณผ่านแถบ เพื่อให้รับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- Circular to Regtangular adapter: ทำหน้าที่แปลง circular wave guide จาก Feed Horn ไปยังตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมดที่มีลักษณะเป็น rectangular wave guide
- วงจรผสมสัญญาณ (SIS Mixer): เป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ลดความถี่สูงของคลื่นวิทยุให้มีความถี่ที่ต่ำลง และสามารถนำความถี่ที่ต่ำลงนั้นไปประมวลผลเพื่อให้นักดาราศาสตร์วิทยุสามารถนำข้อมูลไปศึกษาวิจัยต่อไปได้ โดย Mixer ชิ้นนี้เป็นชนิด single SIS mixer สำหรับความถี่ 220 GHz ทำงานที่อุณหภูมิ 4K โดยเป็นความร่วมมือร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และ กลุ่มงานวิจัย Terahertz ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Oxford สหราชอาณาจักร
ตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมด (OMT) | วงจรเลื่อนเฟส (Phase Shifter) | วงจรกรองสัญญาณผ่านแถบ |
ชุดประกอบฟีดฮอร์นรับสัญญาณ | Circular to Regtangular adapter | วงจรผสมสัญญาณ (SIS Mixer) |
บริบทในท้องตลาด
ในปัจจุบันระบบรับสัญญาณทางด้านดาราศาสตร์วิทยุมีจุดประสงค์ในการพัฒนาเพื่อศึกษาวิจัยทางด้านดาราศาสตร์
ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ภายในระบบรับสัญญาณแต่ละโมดูลประกอบด้วยอุปกรณ์หลากหลายชิ้น ตัวอย่างเช่น วงจรกรองสัญญาณ ฟีดฮอร์นสำหรับรับสัญญาณ วงจรขยายสัญญาณ วงจรแยกสัญญาณ เป็นต้น ผู้จำหน่ายหลักเป็นผู้จำหน่ายจากต่างประเทศ
มูลค่าปัจจุบันในท้องตลาด
มูลค่าของอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นชุดรับสัญญาณวิทยุนั้นมีมูลค่าแตกต่างกันไป เช่น วงจรกรองสัญญาณในย่านความถี่ Q-band (33-50 GHz) มีมูลค่าประมาณชิ้นละ 80,000 บาท และตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมด (Orthomode Transducer) มีมูลค่าประมาณชิ้นละ 75,000 บาท เป็นต้น ไม่รวมภาษีนำเข้าและค่าขนส่ง
ราคาต้นทุน
NARIT มีบุคลากรและเครื่องมีเพียงพอที่จะสามารถขึ้นรูปวงจรกรองสัญญาณ และตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมดของย่านความถี่ Q-band ได้เอง ซึ่งต้นทุนของวงจรกรองสัญญาณอยู่ที่ 80,000 บาท และต้นทุนของตัวแปลงสัญญาณออร์โธโมดอยู่ที่ 75,000 บาท
การต่อยอดนวัตกรรม/ขยายผลเชิงพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรม
องค์ความรู้ในการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับย่านความถี่วิทยุสามารถนำไปประยุกต์ได้หลายหลายแบบ เช่น การสร้างอุปกรณ์รับและส่งสัญญาณสำหรับการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไวไฟหรือการติดต่อผ่านสัญญาณโทรศัพท์ การสร้างเรดาร์เพื่อตรวจจับวัตถุที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรงด้วยตา การสร้างเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ การสื่อสารผ่านดาวเทียม การใช้เทคนิค VLBI ในการศึกษาการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทางภูมิศาสตร์ที่มีความแม่นยำสูงในระดับมิลลิเมตร เป็นต้น
ทีมพัฒนาผลงาน
- นายอภิชาต เหล็กงาม ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรมอาวุโส
- นายแดน สิงห์วงค์ วิศวกรวิจัย
- นายทรงกลด ปัญญาวารินทร์ วิศวกรวิจัย
- นายกมร บัณฑุเดช วิศวกรวิจัย
- นายทีปต์ ไชยรินทร์ บอม วิศวกร
- Mr. Spiro Sarris แจ็ค วิศวกร
- นายอรรถพล บุญวงษ์ วิศวกร
- นายณัฐพงษ์ ดวงฤทธิ์ วิศวกร
- นายทศวรรษ ไชยชะนะ วิศวกร
- นายอดิเรก เอกวรรณ์ วิศวกร
- นายภาธร สถาพรวจนา วิศวกร
- นายวรากร น้อยสะปุ๋ง วิศวกร
- นางสาวณภัทร ยาวิเลิง วิศวกร
- นายณัฐวุฒิ ไชยวงค์วรรณ วิศวกร
- นายพิเชษฐ์ ปาคำ วิศวกร
- นางสาวชญานินท์ หล้าแก้ว วิศวกร
- นายเศรษฐศักย์ แนวจันทร์ วิศวกร
- นางสาววิจิตรา โปธาคำ วิศวกร
- นายภานุพันธ์ ดุมคำ วิศวกร
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
ศูนย์วิศวกรรมเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053 121 268 ต่อ 804