ข่าวดาราศาสตร์
ยาน Parker Solar Probe ทำสถิติเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์
เมื่อวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมา (24 ธันวาคม ค.ศ. 2024) ยาน “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (Parker Solar Probe) ยานสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซา ได้ทำสถิติเป็นยานอวกาศที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในประวัติศาสตร์ และได้ฝ่าชั้น “โคโรนา” บรรยากาศที่ร้อนที่สุดของดวงอาทิตย์ออกมาได้สำเร็จ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ เข้าใจคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้มากยิ่งขึ้น
การเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ของยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบครั้งนี้ เป็นการเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งที่ 22 ของยานลำนี้ โดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เวลา 18:53 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะห่าง 6.1 ล้านกิโลเมตร และจะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีก 2 ครั้งในเดือนมีนาคม และมิถุนายน ค.ศ. 2025
สำหรับการเฉียดเข้าใกล้ครั้งที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นครั้งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด สัญญาณติดต่อจากยานได้มีช่วงที่ขาดหายไป ก่อนที่ตัวยานจะติดต่อกลับมายังศูนย์ควบคุมบนโลกได้อีกครั้ง ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ยืนยันว่าตัวยานอยู่รอดและสามารถกลับมาปฏิบัติภารกิจต่อ
นอกจากสถิติที่ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดแล้ว ยานลำนี้ยังครองสถิติเป็นสิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุด อัตราเร็วสูงสุดครั้งก่อนหน้านี้อยู่ที่ 635,266 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2023 ก่อนที่ยานจะทำลายสถิติตัวเองด้วยอัตราเร็ว 692,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างการเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ในวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมานี้ ซึ่งเร็วกว่าเครื่องบินรบบนโลกถึง 300 เท่า
อัตราเร็วของยานที่สูงระดับนี้ เป็นผลมาจากการที่ยานเฉียดเข้าใกล้ดาวศุกร์ และอาศัยความโน้มถ่วงของดาวศุกร์ช่วงเร่งอัตราเร็ว ที่ผ่านมายานพาร์เกอร์ โซลาร์ โพรบ เฉียดใกล้ดาวศุกร์ถึง 7 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2024
การทำลายสถิติเหล่านี้เป็นเพียงผลพลอยได้จากภารกิจหลักของยานเท่านั้น นั่นคือ การศึกษาชั้นโคโรนาดวงอาทิตย์อย่างละเอียดในแบบที่ไม่เคยมียานลำใดทำได้มาก่อน ซึ่งในขณะที่ยานเก็บข้อมูลนั้น ยานจะต้องเผชิญกับความร้อนสูงถึง 980 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่า ข้อมูลจากยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะปริศนาที่เป็นที่ถกเถียงกันมานานในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ด้านดวงอาทิตย์ นั่นคือ เหตุใดชั้นโคโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุด แต่กลับร้อนกว่าบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ที่เป็นเสมือนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดแย้งกับแบบจำลองมาตรฐานของดาวฤกษ์ที่บ่งชี้ว่า ยิ่งเข้าใกล้ใจกลางดาวฤกษ์มากเท่าไหร่ อุณหภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น
ชั้นต่าง ๆ ในโครงสร้างของดวงอาทิตย์ต่างมีลักษณะเป็นไปตามกฏเกณฑ์นี้ ยกเว้นชั้นโคโรนา ที่พบว่าสามารถมีอุณหภูมิได้สูงมากถึง 1.1 ล้านองศาเซลเซียส ในขณะที่บรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ ที่เป็นเสมือนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ราว 5,500 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าน่าจะมี “กลไกพิเศษ” บางอย่างที่ทำให้ชั้นโคโรนาร้อนขึ้นได้มากขนาดนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่า ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ อาจช่วยไขปริศนานี้ได้ในไม่ช้า
แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : - https://www.space.com/nasa-parker-solar-probe-christmas...
- https://blogs.nasa.gov/.../nasas-parker-solar-probe.../