ความร่วมมือ

CTA

โครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ

cover-image
Mission 4

โครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array: CTA)  เปิดประตูสู่การค้นหาแหล่งกำเนิดรังสีพลังงานสูงในจักรวาล ทั้งหลุมดำ ซูเปอร์โนวา ฯลฯ ภายใต้ความร่วมมือของ 212 สถาบันจาก 32 ประเทศ ดำเนินการสร้างหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ จำนวน 2 แห่ง คือ เกาะลาปาลมา ราชอาณาจักรสเปน จำนวน 19 กล้อง และบริเวณทะเลทราย ใกล้หอดูดาวปารานัล สาธารณรัฐชิลี จำนวน 99 กล้อง เพื่อให้สังเกตการณ์ครอบคลุมทั้งซีกฟ้าเหนือและใต้ ปัจจุบัน หมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ ณ เกาะลาปาลมา เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2568

ในปี พ.ศ. 2558 NARIT ลงนามบันทึกข้อตกลงกับสถาบันเดซี (DESY: Deutsches Elektronen-Synchrotron หรือ German Electron Synchrotron) เพื่อร่วมมือด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค (Astroparticle Physics) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ

ปัจจุบัน NARIT ออกแบบพัฒนา “เครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์” ในโครงการ CTA ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากประสบการณ์ในการสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ได้ต่อยอดไปสู่การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกให้กับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ เพื่อเคลือบกระจกในโครงการดังกล่าว มากกว่า 6,000 บาน  แต่ละบานมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เมตร  เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์ทั้งหมดในโครงการฯ ดังกล่าว จะตั้งอยู่กลางแจ้ง ทำให้กระจกเกิดการสึกกร่อนและสูญเสียความสามารถในการสะท้อนแสง จนต้องเคลือบใหม่ทุกๆ ประมาณ 6 ปี