โครงการความร่วมมือสำรวจดวงจันทร์ไทย-จีน

(International Lunar Research Station: ILRS)

cover-image
ก้าวสำคัญของไทยในการเข้าร่วมโครงการ “สถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์”
ภายใต้ความร่วมมือสำรวจดวงจันทร์ไทย-จีน เพื่อยกระดับ และพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคน
และเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ  ตั้งเป้า “ปักธงไทยบนดวงจันทร์” ปี 2573

Screenshot 2568 01 07 at 12.10.36

ปัจจุบัน เทคโนโลยีอวกาศกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทั่วทุกมุมโลก อาทิ การสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ฐานปล่อยจรวดเคลื่อนกลางมหาสมุทร ดาวเทียมที่นำอินเทอร์เน็ตมาสู่พื้นที่ห่างไกล จรวดที่บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับอวกาศ ที่ไม่ใช่แค่การสำรวจเท่านั้น แต่ยังมองเห็นถึงโอกาสที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้านธุรกิจอวกาศที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้

ความก้าวหน้า และเป้าหมายเหล่านี้ นับเป็นการแข่งขันทางอวกาศยุคใหม่ ที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมนุษย์กลับมาพิจารณาถึง “ดวงจันทร์” อันเป็นเป้าหมายสำคัญอีกครั้ง และครั้งนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การสำรวจ แต่ยังรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์อีกด้วย หากประเทศใดยังคงย่ำอยู่กับที่ ในยุคที่นานานับประเทศต่างก้าวไปข้างหน้านั้น ก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับการก้าวถอยหลัง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับโลกด้านการสำรวจห้วงอวกาศลึก โดยการเข้าร่วมสำรวจดวงจันทร์ผ่านโครงการความร่วมมือสำรวจดวงจันทร์ไทย-จีน ภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์

สถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) เป็นความตั้งใจที่จะสร้างสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์โดยมีองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน เปิดกว้างให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ และวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างสันติ ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อร่วมกันวางแผน พัฒนา ออกแบบ สาธิต และดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศบนดวงจันทร์ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดประชาคมอวกาศนานาชาติ และประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว

434959954 811918640978680 4270788569294477417 N (2)

สถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) จึงเป็นโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นผลักดันการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบทั้งบนพื้นผิว และในวงโคจรของดวงจันทร์ เพื่อเบิกทางและปูรากฐานไปสู่การวิจัยวิทยาศาสตร์ และทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในระยะยาว ที่จะนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต 

การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรจากประเทศไทยได้มีโอกาสออกแบบ และทดสอบอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และวิจัย ที่จะติดตั้งไปกับโครงการสำรวจดวงจันทร์ภายใต้ ILRS เช่น ยานอวกาศฉางเอ๋อ นับเป็นโอกาสแรกที่จะมีอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ที่ผลิต ออกแบบ และดำเนินการโดยคนไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์

อุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์แรกของคนไทยที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ หรือ Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) นำโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ​(องค์การมหาชน)​ และมหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานสูง ศึกษาปริมาณของรังสีคอสมิกในอวกาศ ทั้งด้านที่มาจากพื้นผิวของดวงจันทร์ และด้านที่หันออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์ อุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ดังกล่าวของประเทศไทย เป็นหนึ่งในอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากนานานับประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และ International Lunar Observatory Association ที่จะร่วมติดตั้งไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 7 ในปี พ.ศ. 2569

ความร่วมมือฯ ดังกล่าว ได้ยกระดับเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาล ไทย-จีน โดยกระทรวง อว. และ CNSA ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศ ภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นสักขีพยาน เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นนับจากนี้ ของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร นักศึกษา ตลอดจนหน่วยงานไทย และจีน อันจะก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้งสองชาติ โดยมีสื่อกลางเป็นการร่วมกันวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศห้วงลึก

08 Sino Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring

นอกจากการสำรวจดวงจันทร์ในวงโคจรแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ข้อเสนอของไทย โครงการ “อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณนิวตรอนที่สะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์” Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons: ALIGN) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์จีน CNSA  ให้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ที่จะส่งขึ้นไปกับยานลงจอดบนพื้นผิว (Lander) ณ บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ภายใต้ภารกิจยานฉางเอ๋อ 8 ในปี พ.ศ. 2573  อุปกรณ์นี้จะทำการตรวจวัดการแผ่รังสีของอนุภาคคอสมิกพลังงานสูง รวมถึงนิวตรอนอัลบีโด (Albedo neutron) เพื่อวัดนิวตรอนที่ปลดปล่อยออกมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวของดวงจันทร์กับรังสีคอสมิก ปริมาณนิวตรอนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งบอกได้ถึงอันตรายจากรังสีที่นักบินอวกาศอาจจะต้องพบระหว่างการสำรวจดวงจันทร์ หรือการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ของมนุษย์ในอนาคต ข้อมูลที่ได้รับทั้งจากวงโคจรในภารกิจฉางเอ๋อ 7 และ บนพื้นผิวในภารกิจฉางเอ๋อ 8 นี้ จะนำมาผสานรวมกัน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจปริมาณรังสีต้นกำเนิด และกระบวนการเกิดรังสีที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคตได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องมือที่จะติดตั้งไปกับยานสำรวจอวกาศไม่ใช่เรื่องง่าย และเต็มไปด้วยความท้าทายทางวิศวกรรมมากมาย อาทิ น้ำหนักที่บรรทุกขึ้นไปทุกกรัมส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงอันมหาศาล  ความเสี่ยงของชิ้นส่วนเคลื่อนไหวทุกชิ้นที่อาจเกิดการขัดข้อง  การทดสอบอุปกรณ์ในสภาวะจำลองอวกาศอันสุดขั้ว เป็นต้น ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่ไม่สามารถส่งมนุษย์ออกไปแก้ไขได้อาจจะหมายถึงการสิ้นสุดซึ่งภารกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ท้าทาย และเป็นบททดสอบอันสำคัญ ที่จะประกาศให้โลกทราบถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศ

ในขณะนี้ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) กำลังอยู่ในขั้นตอนขึ้นรูปโครงสร้างด้วยแมกนีเซียมอัลลอย (MB-15) ภายในห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลขั้นสูงของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  แมกนีเซียมอัลลอยเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียมถึง 40% กระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความระมัดระวัง แม้สะเก็ดเพียงเล็กน้อยก็อาจลุกติดไฟได้  ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดในประเทศไทยเคยขึ้นรูปด้วยวัสดุชนิดนี้มาก่อน และท้ายที่สุดชิ้นส่วนเหล่านี้ จะถูกนำไปประกอบเป็นอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์กับโครงการฉางเอ๋อ 7

Screenshot 2568 01 07 at 13.41.03 Screenshot 2568 01 07 at 13.41.16

 โครงสร้างชิ้นส่วน Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH)
ขึ้นรูปความละเอียดสูงด้วยแมกนีเซีมอัลลอย (MB-15)

การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดวงจันทร์ไทย-จีนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ ที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศระหว่างไทย-จีน เป็นความท้าทายทางวิศวกรรม อันนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะ และสมรรถนะสูงทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถของวิศวกรไทย ในฐานะผู้ออกแบบ ผลิต ค้นคว้า และวิจัย หนึ่งในอุปกรณ์ที่จะไปสำรวจดวงจันทร์ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า ซึ่งยังไม่เคยศึกษาและค้นพบมาก่อน 

เรื่องของ “อวกาศ” เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความหวัง ความฝัน และมักจะทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกวัยเกิดความตื่นตัวได้เสมอ ในอดีต “การสำรวจอวกาศ” สำหรับประเทศไทยอาจเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน แต่ปัจจุบัน ณ ขณะนี้  วิศวกรของไทยกำลังมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจ เพื่อพิสูจน์ความสามารถ แสดงศักยภาพของนักวิจัย และวิศวกรชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลก และเพียงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยจะไปโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายปักธงไทยในอวกาศในปี 2573