ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย Thai Space Consortium หรือ TSC เป็นการผนึกกำลังของ 13 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประสานงานหลัก
ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสเรียนรู้ลงมือทำโดยตรง ด้วยการออกแบบและสร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์” ด้วยกำลังคนและเทคโนโลยีในประเทศ เพิ่มพูนประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ยกระดับองค์ความรู้ และทักษะด้านวิศวกรรมขั้นสูง สู่การเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ได้ลงนามความร่วมมือฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564
ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ที่มีกำหนดสร้างภายในปี 2570
TSC-Pathfinder เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาด 80 กิโลกรัม โคจรรอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 500 กิโลเมตร มีอุปกรณ์ Payload เพื่อสำรวจทรัพยากรโลก โดยความร่วมมือกับสถาบันทัศนศาสตร์กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน โดยส่งวิศวกรชาวไทย 3 ราย ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้าง และพัฒนาดาวเทียม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฎาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 ขณะนี้เสร็จสิ้นขั้นตอนของ Engineering Model เรียบร้อยแล้ว
NARITCube-1 เป็นดาวเทียมทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขนาด 5 กิโลกรัม เพื่อทดสอบระบบคู่ขนานระบบบัสของดาวเทียม TSC-1 นอกจากนี้ยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศในอนาคต กำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2567 โดยจรวดของประเทศญี่ปุ่น ปฏิบัติการที่ระดับความสูง 500 กิโลเมตร
TSC-1 เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาด 100 กิโลกรัม โคจรรอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 550 กิโลเมตร มีอุปกรณ์ Payload หลัก เป็นกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น หรือ Hyperspectral Imager สามารถบันทึกภาพ และสเปกตรัมในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น และอินฟราเรดใกล้้ของผิวโลกไปพร้อมๆ กัน ส่วน Payload รอง เป็นเครื่องมือตรวจวัดสภาพอวกาศ หรือ Space weather กำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2568
Lunar Pathfinder เป็นดาวเทียมทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขนาด 10 กิโลกรัม มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจดวงจันทร์ อาทิ ระบบควบคุมและนำร่องอวกาศยานห้วงลึก ระบบสื่อสารทางไกล และการสังเคราะห์พิกัดวงโคจร มีเป้าหมายผลผลิตเชิงวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของดวงจันทร์ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ของไทยในอนาคต กำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2569 ร่วมกับภารกิจฉางเอ๋อ 7 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการสนับสนุนของ China National Space Administration หรือ CNSA
TSC-2 เป็นดาวเทียม ขนาดประมาณ 300 กิโลกรัม มีภารกิจหลักในการสำรวจดวงจันทร์ มีเป้าหมายโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูงประมาณ 100 กิโลเมตร มีอุปกรณ์ Payload สำหรับภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ และการสื่อสารระยะไกลในอวกาศ
“การออกแบบและสร้างดาวเทียม” นับเป็นโจทย์ยากที่จะยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของชาติที่มีตัวเทียบวัดกับชาติอื่นๆ “ดาวเทียม” เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขา ผลักดันให้เกิดการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญสูงทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม สร้างงานวิศวกรรมขั้นสูง ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวหน้าในเวทีโลก นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุด เทคโนโลยีอวกาศ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจชั้นยอดให้เกิดแก่คนในชาติ ความร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ จะส่งต่อแรงบันดาลใจไปถึงเยาวชน นักเรียน นักศึกษา สร้างอาชีพ สร้างอนาคตให้แก่ลูกหลานไทยของเรา