ภาพถ่ายดาราศาสตร์ สามารถสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้

สำหรับคอลัมน์นี้อยากเชิญชวนนักดาราศาสตร์สมัครเล่น มาร่วมสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ภายใต้โครงการ Dark Sky Campaign ด้วยภาพถ่ายดาราศาสตร์กันได้ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ที่เหล่านักถ่ายภาพออกไปเสาะหาสถานที่ถ่ายดาวกันหลายๆพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติ ยอดดอย อ่างเก็บน้ำของชุมชน รีสอร์ท โรมแรม หรือแม้กระทั่งพื้นที่ส่วนบุคคล ก็สามารถถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าออกมาได้อย่างสวยงามและสว่างชัดเจน ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพท้องฟ้าที่มืดสนิทเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

001

 

          ดังนั้น หากเราพบว่าสถานที่ใดก็ตาม ที่ได้มีโอกาสไปถ่ายดาว และพบว่าท้องฟ้าที่นั้นมีความมืดในระดับที่สามารถสังเกตการณ์วัตถุต่างๆ เช่น ทางช้างเผือก กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว และวัตถุท้องฟ้าๆต่างได้อย่างชัดเจน ปราศจากแสงไฟรบกวน อยากจะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสถานที่ถ่ายดาว หรือจุดสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์นั้น ภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่สวยงามของเรา ก็สามารถนำมาใช้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการ การขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ได้เช่นกันครับ โดยสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ตามลิงก์ https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/

          ปัจจุบันสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มดำเนินโครงการ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Campaign) โดยแบ่งประเภทของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

           คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า

  1. ชุนชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)

           คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้การร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) เช่น บริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อน สวนสาธารณะ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า

  1. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)

          คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาวเปิด หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า

  1. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Subures)

          คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง เช่น สวนสาธารณะ โรงเรียน หอดูดาวส่วนตัว ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) มีค่าความมืดท้องฟ้าต้องอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว ได้ด้วยตาเปล่า

 

เราจะสามารถตรวจสอบคุณภาพท้องฟ้าอย่างไรบ้าง ?

          ก่อนที่เราจะเสนอชื่อพื้นที่ดูดาว เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดนั้น ก็จำเป็นต้องมีหลักฐานที่แสดงให้ถึงคุณภาพของท้องฟ้าที่มีความมืดที่เหมาะสม ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ดังนี้

  1. สำรวจท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ว่าสามารถสังเกตเห็นแสงหรือวัตถุท้องฟ้าอะไรได้บ้าง

          เริ่มต้นสังเกตการณ์ท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำไปจนถึงช่วงเวลากลางคืน ว่าสามารถสังเกตเห็นอะไรได้บ้าง เช่น ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เห็นแสงจักรราศี (Zodiacal light) ได้หรือไม่ เห็นแนวทางช้างเผือกได้ชัดเจนแค่ไหน เห็นกาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31)ได้หรือไม่ และรอบๆตัว มีมลภาวะทางแสงมารบกวนมากน้อยแค่ไหน

002

 

  1. ทดลองถ่ายภาพท้องฟ้า ว่าสามารถถ่ายภาพอะไรได้บ้าง และเห็นรายละเอียดอย่างไร

          2.1 ช่วงหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สามารถถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งแสงจักรราศีนี้บางพื้นที่ก็อาจไม่สามารถมองเห็นหรือถ่ายภาพได้ และหากพื้นที่ไหนที่สามารถเห็นหรือถ่ายภาพได้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพท้องฟ้าได้ดี

003

ภาพถ่ายแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ

ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 6400 / Exposure : 30 sec

 

          2.2 ในวันที่ปราศจากแสงดวงจันทร์ สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ชัดเจนแค่ไหน พร้อมการถ่ายภาพทางช้างเผือกดังกล่าวไว้

004

ภาพถ่ายทางช้างเผือก

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 6400 / Exposure : 30sec)

 

          2.3 ให้ทดลองถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ตลอดทั้งคืน หรืออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบค่าทัศวิสัยของท้องฟ้าว่าสามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืนโดยไม่มีอุปสรรคของมลภาวะของแสงมารบกวน โดยภาพเส้นแสงดาวที่มีคุณภาพนั้น จะเห็นว่าเส้นแสงของดาวจะต่อกันเป็นเส้นสม่ำเสมอไม่มีช่วงไหนขาดหายไปนั่นเอง

005

ภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ทางทิศตะวันตก

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 1600 / Exposure : 30sec x 405 images)

 

          2.4 ทดลองถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว หรือแม้กระทั่งดาวหาง เพื่อใช้ในการบ่งชี้ให้เห็นถึงความมืดของท้องฟ้าที่สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าออกมาได้มีรายละเอียดดีมากน้อยแค่ไหน    

006

 

  1. ตรวจสอบแนวทางการบริหารจัดการมลภาวะทางแสง ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ควบคุมได้หรือไม่

          การตรวจสอบพื้นที่ว่ามีการบริหารจัดการเรื่องแสงไฟ และมลภาวะทางแสงได้ดีมากน้อยอย่างไร และดูแนวทางที่จะสามารถดำเนินการพัฒนาได้ในอนาคตเพื่อให้สถานที่ดังกล่าว จะสามารถทำให้เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้ในระดับที่มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปได้

          โดยสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการจัดการเกี่ยวกับแสงไฟ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม และการวางแนวทางการใช้แสงสว่างให้มีประสิทธิภาพ ได้ตามลิงก์ https://darksky.narit.or.th/solution/

หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

          การขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในแต่ละรูปแบบ ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จากข้อมูลการสมัครและการสำรวจพื้นที่ ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น คุณภาพท้องฟ้า แสงสว่างภาพนอกอาคาร การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุกจากหน่วยงาน/ผู้บริหารต้นสังกัด ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมและเกิดการอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอย่างยั่งยืน

          พื้นที่ที่ได้รับจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จะได้รับป้ายรับรองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพท้องฟ้าได้มาตรฐาน มีการจัดการแสงสว่างในพื้นที่ตามที่กำหนด และได้รับอนุญาตให้นำเครื่องหมายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดใช้ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่อุทยานแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน นอกจากนี้จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์อุทยานท้องฟ้ามืด และช่องทางออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้สนใจรับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง