แจกตารางถ่ายทางช้างเผือกโค้งสุดท้าย เดือนพฤศจิกายน 2563

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นช่วงสุดท้ายของการออกไปถ่ายทางช้างเผือก เนื่องจากหลังจากนี้ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือก จะมีดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือก จนทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ไปจนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้า จึงอยากชวนมาถ่ายทางช้างเผือกส่งท้ายกันหน่อยครับ

ตารางเวลาการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกเดือนพฤศจิกายน  001

 

ตารางช่วงเวลาที่สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือก ในเดือนพฤศจิกายน 2563

 

การสังเกตแนวใจกลางทางช้างเผือก

          สำหรับทางช้างเผือกในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้สามารถสังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปจึงถึงช่วงประมาณสามทุ่ม ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกก็จะลับขอบฟ้าเหลือแต่ส่วนที่ไม่ค่อยสว่างให้เห็นได้แบบจางๆเท่านั้น

          ทางช้างเผือกนั้นเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นแนวฝ้าจางๆ คล้ายเมฆที่พาดผ่านกลางท้องฟ้าจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ถึงแม้เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปี แต่บริเวณที่นิยมถ่ายภาพและเป็นจุดที่สวยงามที่สุดคือบริเวณตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือก เป็นส่วนที่สว่างที่สุดและน่าตื่นตามากที่สุด

ดังนั้นในหนึ่งปีจึงมีช่วงเวลาที่สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางได้ไม่ครบทุกเดือน เนื่องจากช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึกลางเดือนกุมภาพันธ์ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ใกล้บริเวณใจกลางทางช้างเผือกในกลุ่มดาวคนยิงธนูกับแมงป่อง ทำให้เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้เพราะแสงดวงอาทิตย์สว่างรบกวน

วิธีถ่ายภาพทางช้างเผือก

          การถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น เบื้องต้นเพียงแค่เช็คพยากรณ์อากาศ ในช่วงหัวค่ำล่วงหน้า ว่ามีสภาพอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆฝนหรือไม่ พร้อมทั้งหาสถานที่มืดสนิทปราศจากแสงรบกวนจาก เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราได้ภาพทางช้างเผือกสวยๆ กันแล้วครับ โดยมีวิธีถ่ายภาพเบื้องต้นดังนี้

  1. เวลาเปิดหน้ากล้อง (Exposure Time) : เวลาเป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดและอาจถือเป็นตัวกำหนดในการตั้งค่าอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นการเปิดหน้ากล้องให้ได้นานที่สุด ที่ไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้นมากเกินไป สามารถคำนวณจากสูตร Rule of 400/600 (ลิงก์การคำนวณเวลาถ่ายภาพ : https://bit.ly/38p4xXE)

002

ตัวอย่างการตั้งค่าเวลาเปิดหน้ากล้อง เมื่อใช้กล้องและเลนส์ฟูลเฟรม ให้ใช่ค่า 600 หารด้วยความยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพ

 

  1. รูรับแสง (Aperture) : ค่ารูรับแสงสำหรับเลนส์ปกติทั่วไป ผมแนะนำให้ใช้รูรับแสงกว้างที่สุด เช่น f/2.8 แต่สำหรับประเภทเลนส์เกรดสูงๆ ที่ไวแสงมากๆ เช่นเลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างถึง f/1.2 หรือ f/1.4 ควรลดขนาดรูรับแสงลงมา 1-2 สตอป เพื่อให้ได้ภาพที่คงชัดมากยิ่งขึ้น
  2. 3. ความไวแสง (ISO) : ต่อด้วยการปรับค่าความไวแสงที่เหมาะสม ซึ่งค่าตั้งต้นที่แนะนำให้ใช้ที่ ISO 3200 ไว้ก่อน จากนั้นหากถ่ายออกมาแล้วพบว่าโอเวอร์หรืออันเดอร์ก็ สามารถปรับชดเชยได้ ตามสภาพท้องฟ้า (ท้องฟ้าที่มืดมากๆ จะใช้ค่าค่อนข้าง ISO สูง)
  3. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction : และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง
  4. ใช้โหมดการบันทึกภาพแบบ RAW File : จะช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแก้ไขภาพในภายหลังได้ดีกว่า เนื่องจากจะมีค่าข้อมูลที่มากกว่าแล้ว ยังมีค่าของโทนสีที่มากกว่า
  5. โฟกัสภาพที่ดาวสว่างด้วย Live view หลังกล้อง : การโฟกัสดาวให้คมชัดที่สุด โดยการซูมที่ Live view 10X เพื่อปรับให้ดาวเป็นจุดเล็กที่สุด ซึ่งเราสามารถใช้ดาวสว่างบนท้องฟ้าดวงไหนก็ได้ในการโฟกัส หลังจากโฟกัสได้แล้วก็สามารถนำกล้องไปถ่ายดาวบริเวณอื่นๆ ของท้องฟ้าได้ทั้งหมด เพราะดาวอยู่ที่ระยะอนันต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า โฟกัสครั้งเดียว ถ่ายดาวได้ทั่วโลก *อย่าลืมปรับกล้องเป็นระบบถ่ายภาพแบบแมนนวล โหมด M และปิดระบบกันสั่น ด้วยนะครับ

 

003 

ตัวอย่างการโฟกัสดาว โดยการใช้ Live view แล้วซูมภาพที่ 10X เพื่อปรับให้ดาวเป็นจุดเล็กที่สุด

 

ไอเดียถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงเดือนพฤศจิกายน

          ลักษณะปรากฏของแนวทางช้างเผือกในเดือนพฤศจิกายน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แนวใจกลางจะเฉียงเอียงไปทางขวามือ (หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งจะมีช่วงเวลาถ่ายภาพในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามาและภาพทางช้างเผือกคู่กับแสงจักรราศี ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง

ทางช้างเผือกแบบพาโรนามา

004

ภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบพาโนรามา จำนวน 2 แถวในแนวตั้ง รวมทั้งหมด 20 ภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec / WB : 4200K / Panorama : 20 Images)

 

ทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี

005

ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec

 

ทางช้างเผือกพาโนรามากับแสงจักรราศี

006

ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L / Focal Length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200/ Exposure : 30 sec x 35 Images