เกณฑ์พิจารณาการมองเห็นจันทร์เสี้ยวใหม่ของมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจับตามองในการพัฒนาเกณฑ์พิจารณาการมองเห็นจันทร์เสี้ยว เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่นำการคำนวณทางดาราศาสตร์มาใช้กำหนดวันเริ่มต้นของเดือนอิสลามพร้อมกับ  “รุกยะห์” (การมองเห็นด้วยตาเปล่า) โดยใช้เกณฑ์การคํานวณทางดาราศาสตร์ ที่เรียกว่าเกณฑ์     “อิมกาน อัลรุกยะห์ 2 - 3 - 8” (Imkan al-Rukyah/expected visibility) คือ ความเป็นไปได้ที่จะสามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยว ซึ่งจันทร์เสี้ยวจะถูกรับรองว่าเห็น เมื่อเป็นตามเงื่อนไขต่อไปนี้

as20210729 1 01

 

(ก) ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก

  • มุมเงยของจันทร์เสี้ยวจะต้องไม่น้อยกว่า 2 องศา
  • ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ต้องไม่น้อยกว่า 3 องศา

(ข) ขณะที่ดวงจันทร์ตก
                     -     อายุของดวงจันทร์จะต้องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

แต่จากการใช้เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์  2 - 3 - 8” มาเป็นเวลา 20 กว่าปี พบว่าเกณฑ์นี้ ไม่สอดคล้องกับการเห็นจันทร์เสี้ยวด้วยตาเปล่า ดังนั้น ประเทศมาเลเซียจึงตรวจสอบและพัฒนาเกณฑ์การคํานวณทางดาราศาสตร์ให้สอดคล้องกับรุกยะห์ (การเห็นด้วยตาเปล่า)  โดยจากการทำวิจัยและบันทึกข้อมูลการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวที่สามารถเห็นได้ ในช่วงเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ค.ศ.​ 2000  จากข้อมูลบันทึกการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวทุก ๆ เดือน รวมทั้งหมด 254 ชุด ณ หอดูดาว บัยตุลฮิลาล เตอโละ เกอมัง มาเลเซีย (Baitul Teluk Kemang Malaysia) รัฐยะโฮร์ (Johor)  นำมาสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างเชิงมุมของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (ตัวแปรตาม) เทียบกับค่ามุมเงยของดวงจันทร์ (ตัวแปรอิสระ)  ผลวิจัยได้เสนอเกณฑ์พิจารณาการมองเห็นจันทร์เสี้ยวใหม่ของมาเลเซีย ที่สามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยวได้ด้วยอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ดังต่อไปนี้

(ก) ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก

  • มุมเงยของจันทร์เสี้ยว (Altitude) 3.33 องศา
  • ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Elongation) 7.28 องศา
  • ขณะที่ดวงอาทิตย์ตก ค่าความต่างมุมเงยระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (Arc of vision: ARCV) มีค่าเท่ากับ 3.74 องศา

 

as20210729 1 02

ภาพที่ 1: แสดงตัวแปรที่ใช้เป็นเกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยว

https://lh6.googleusercontent.com/r2g08T8JyeHmBnu2W59fYjVMO4xzEPsXdoVIsnaP1FU3MI4KHVpsymtTLsTdZ81N6s3ssmfVIm045HNWrIygxMLHPJCK4_0KXRV93RAkL7vtBuqmeK0Lo6gVzQfHUtOTzDse_TA1

 

คาดว่า ในอนาคตอันใกล้ มาเลเซียอาจจะใช้เกณฑ์การมองเห็นจันทร์เสี้ยวใหม่นี้ แทนที่เกณฑ์ “อิมกาน อัลรุกยะห์ 2 - 3 - 8” ในการพิจารณาการเห็นจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นของเดือนกอมารียะห์และการจัดทำปฏิทินอิสลาม

 

เรียบเรียง: สุกัญญา มัจฉา - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง:

(PDF) A New Crescent Moon Visibility Criteria using Circular Regression Model: A Case Study of Teluk Kemang, Malaysia

http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-04/10/c_139871258.htm