“สิงคโปร์” นครรัฐเล็ก ๆ ใน ASEAN กับอุตสาหกรรมอวกาศ

ปกติแล้วเมื่อเรานึกถึงประเทศที่ชั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เรามักจะนึกถึงประเทศสหรัฐฯ รัสเซีย จีน กลุ่มชาติยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย ที่มีพื้นที่ใหญ่พอจะมีฐานปล่อยจรวดในพื้นที่ห่างไกลผู้คนได้ แต่ยังมีชาติเล็ก ๆ ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถพัฒนาจรวดให้ปล่อยจากพื้นที่ในประเทศได้ แต่ก็ยังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ อย่าง “สิงคโปร์” นครรัฐเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าจังหวัดนนทบุรีไม่มาก

ar20211025 2 01

จรวดทดสอบระดับต่ำ (Low Altitude Demonstration : LAD) ของบริษัท Equatorial Space Systems บริษัทเอกชนที่พัฒนาจรวดเชื้อเพลิงผสมจากสิงคโปร์ ขณะทดสอบจรวดในรัฐเปรัก มาเลเซีย เมื่อปี ค.ศ.2020

[Credit ภาพ : Equatorial Space Systems]

 

ก้าวแรกของสิงคโปร์ในอุตสาหกรรมอวกาศในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990

จากช่วงแรกที่สิงคโปร์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศผ่านดาวเทียมต่างชาติ อย่างดาวเทียมโทรคมนาคม ดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา สิงคโปร์มีดาวเทียมดวงแรกคือ ดาวเทียม ST-1 ดาวเทียมสื่อสารที่ส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.1998 มีเจ้าของร่วมกันคือบริษัทโทรคมนาคมของสิงคโปร์กับไต้หวัน แต่ผลิตจากบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศในยุโรป (ทำนองเดียวกับดาวเทียมไทยคม 1 ดาวเทียมดวงแรกของไทยที่ผลิตจากบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศในสหรัฐฯ)

ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สิงคโปร์ผลักดันให้มีความร่วมมือด้านอวกาศกับบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศ สถาบันการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ดึงดูดบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศให้มาตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ เช่น บริษัทด้านการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม บริษัทด้านการวิเคราะห์และให้บริการภาพถ่ายดาวเทียม หรือสำนักงานส่วนภูมิภาคของบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศต่างชาติ รวมถึงหน่วยงานในสิงคโปร์อย่าง “สมาคมอวกาศและเทคโนโลยีสิงคโปร์” ได้จัดการประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ

จนในปัจจุบัน มีดาวเทียมมากกว่า 13 ดวงของสิงคโปร์ (ทั้งของรัฐและเอกชน) ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศ (นับตั้งแต่ ค.ศ.2011) และดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกที่ผลิตในสิงคโปร์สามารถขึ้นสู่อวกาศ ในปี ค.ศ.2011 ซึ่งในตอนนี้ สิงคโปร์เน้นการพัฒนาดาวเทียมประเภทดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับทดสอบเทคโนโลยีอวกาศ (อย่างเครื่องยนต์จรวดพลาสมา หรือระบบส่งสัญญาณข้อมูลระหว่างดาวเทียม) ดาวเทียมสังเกตการณ์โลก (ทั้งแบบสังเกตการณ์สภาพสิ่งแวดล้อม และแบบบริการภาพถ่ายจากดาวเทียมในเชิงพาณิชย์)  

 

สำนักงานเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศสิงคโปร์

สิงคโปร์ประเมินตนเองว่าเป็นประเทศขนาดเล็กและต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจแบบเปิด จึงจำเป็นต้องตามให้ทันแนวโน้มการพัฒนาทางเทคโนโลยีและโอกาสทางเศรษฐกิจในประชาคมโลก เพื่อนำมาปรับใช้และเสริมสร้างอนาคตของชาติ สิงคโปร์จึงให้ความสนใจกับ “อุตสาหกรรมอวกาศ” (Space industry) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ ร่วมกับกระทรวงและองค์กรอื่น ๆ ได้จัดตั้ง “สำนักงานเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศสิงคโปร์” (OSTIn) ในปี ค.ศ.2013

OSTIn มีหน้าที่เป็นสำนักงานแห่งชาติที่รับผิดชอบในประเด็นดังนี้

- การพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศ (โดยเฉพาะดาวเทียม) ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานหรือบริษัทด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งในและนอกประเทศ โครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กแห่งชาติสิงคโปร์ หรือการให้ทุนพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียม (เช่น ซอฟท์แวร์ ชุดคำสั่ง หรือระบบย่อยของดาวเทียม)

- ส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศแก่บริษัทด้านนี้ในสิงคโปร์

- วางแผนกิจการอวกาศภาคพลเรือน เช่น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศอย่างสันติและยั่งยืน

 

ตัวอย่างดาวเทียมของสิงคโปร์

1) ดาวเทียม TeLEOS-1

ดาวเทียมสังเกตการณ์โลกเพื่อให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในเชิงพาณิชย์ดวงแรกของสิงคโปร์ ดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบและพัฒนาในสิงคโปร์ ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2015

2) ดาวเทียม NeuSAR

เครือข่ายดาวเทียมตัวทดลอง เพื่อใช้ระบบเรดาร์กราดตรวจสำหรับถ่ายภาพพื้นผิวโลก มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2022

3) ดาวเทียม VELOX-II

ดาวเทียมที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางกับบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศในสิงคโปร์ เพื่อตัวทดสอบการสื่อสารระหว่างดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำรอบโลกกับดาวเทียมในวงโคจรค้างฟ้า (ดาวเทียมที่ใช้เวลาโคจรรอบโลกครบรอบนาน 1 วัน) ส่งขึ้นสู่อวกาศใน ค.ศ.2015

 

ศูนย์วิจัยสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศตามมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์

1) ศูนย์วิจัยดาวเทียม (SaRC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง :

พื้นที่ประกอบดาวเทียมรุ่นแรก ๆ ของสิงคโปร์

เป็นพื้นที่ประกอบดาวเทียมของสิงคโปร์หลายดวง รวมถึงดาวเทียม X-Sat ดาวเทียมดวงแรกที่ประกอบขึ้นที่นี่ ถือเป็นดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาในสิงคโปร์ ส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2011 และดาวเทียม VELOX-II

2) ศูนย์เทคโนโลยีดาวเทียมและการวิจัย (STAR) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ :

ศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กในฝูงดาวเทียม

ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2018 มีห้องทดสอบและประกอบดาวเทียม ห้องทดลองไฟฟ้าสถิต และพื้นที่ทดสอบสภาพแวดล้อมรอบดาวเทียม (อย่างสภาพความร้อนสูงหรือสภาพสูญญากาศ) ศูนย์วิจัยแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ประกอบและทดสอบดาวเทียมมวล 20 กิโลกรัมในฝูงดาวเทียมของสิงคโปร์ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2022

3) เทคโนโลยีการแจกจ่ายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (QKD) ในดาวเทียม :

เทคโนโลยีการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัยกว่าการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์แบบอื่น และประยุกต์กับอุตสาหกรรมดาวเทียมในสิงคโปร์

ศูนย์เทคโนโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (CQT) และบริษัท SpeQtral ที่แยกตัวออกมา ได้พัฒนาการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์โดยอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ควอนตัม (“การเข้ารหัสเชิงควอนตัม” หรือ Quantum cryptography) เพื่อประยุกต์เทคโนโลยี QKD ในเชิงพาณิชย์ ที่จะสามารถปกป้องการสื่อสารข้อมูลที่ละเอียดอ่อนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการเงิน

ทาง CQT ได้ร่วมกับศูนย์วิจัย RAL Space ในสหราชอาณาจักร พัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กใช้ทดสอบเทคโนโลยี QKD โดยดาวเทียมแบบนี้จะช่วยให้ผู้ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสเชิงควอนตัมจากทั่วโลกสามารถเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น

 

ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศสิงคโปร์ 

จากแผนงานด้านอุตสาหกรรมอวกาศของสิงคโปร์ ทำให้ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศทั้งของสิงคโปร์และต่างชาติมากกว่า 30 แห่ง และบริษัทสตาร์ตอัพสายอุตสาหกรรมอวกาศมากกว่า 13 แห่ง ซึ่งส่วนมากเปิดขึ้นในช่วง 6 ปีหลัง ๆ และบุคลากรในสตาร์ตอัพเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศในสิงคโปร์

ขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมอวกาศของสิงคโปร์นั้น มีคนทำงานมากกว่า 1,000 คนที่มีวิชาชีพเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง (นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิจัย) หากเทียบกับประชากรของประเทศสิงคโปร์ที่ 5.6 ล้านคน จะมีสัดส่วนที่เกือบ 2 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนของทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมอวกาศที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับชาติอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยจำนวนบริษัทภาคเอกชนและทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรมอวกาศในสิงคโปร์ ภาคเอกชนในสิงคโปร์จึงมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศอย่างมาก โดยภาคเอกชนเหล่านี้จะเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ อย่างเครื่องยนต์จรวดขนาดเล็ก หรือระบบสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ในอวกาศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางอุตสาหกรรมอวกาศของสิงคโปร์ที่เน้นการพัฒนาและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก

ขณะที่บางบริษัทเน้นเรื่องเทคโนโลยีจรวด แม้ว่าจะไม่สามารถพัฒนาจรวดหรือตั้งฐานปล่อยจรวดได้ในสิงคโปร์ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ที่เล็กมากของสิงคโปร์ อย่างบริษัท Equatorial Space Systems ที่กำลังพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงผสมให้สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศด้วยงบประมาณที่ถูกลงกว่าจรวดแบบก่อนหน้า โดยทดสอบจรวดรุ่นทดลองในประเทศมาเลเซีย

ในช่วงปี ค.ศ.2004-2020 นักลงทุนทั่วโลกได้ระดมลงทุนไปราว 135,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สู่อุตสาหกรรมอวกาศนานาชาติ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ 7% อยู่ที่สิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนด้านอวกาศค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ หรือการที่สิงคโปร์ไม่ได้เป็นชาติแนวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ (แบบสหรัฐฯ รัสเซีย จีน หรือกลุ่มชาติยุโรป)

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

- https://www.edb.gov.sg/content/dam/edb-en/our-industries/aerospace/OSTIn-brochure.pdf

- https://sbr.com.sg/information-technology/in-focus/how-spacetech-soaring-in-singapore

- https://www.straitstimes.com/singapore/covid-19-has-not-slowed-down-space-industry-many-opportunities-in-the-sector-says-teo-chee

- https://www.channelnewsasia.com/cnainsider/singapore-foray-space-race-budding-industry-satellite-boldly-go-759796

 

เรียบเรียง

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.