ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) กับการกำหนดเดือนปฏิทินฮิจเราะห์ ประจำปี ฮ.ศ. 1441

ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เป็นบริวารหนึ่งเดียวของโลกและเป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดอีกด้วย เห็นได้ชัดในตอนกลางคืนและสวยงามมากในคืนจันทร์เพ็ญ (Full Moon) หากเราสังเกตดวงจันทร์บนท้องฟ้าในแต่ละคืน จะเห็นเฟสของดวงจันทร์ที่ปรากฏ (Phase of the moon) เปลี่ยนแปลงไปทุกวันชาวมุสลิมจะกำหนดวันที่  และวันสำคัญของแต่ละเดือนปฏิทินฮิจเราะห์หรือปฏิทินอิสลาม จากการปรากฏเฟสของดวงจันทร์ในแต่ละวัน

1118 2

รูปที่ 1 ดวงจันทร์เสี้ยวแรกหลังจากดางอาทิตย์ลับขอบฟ้า

การนับวันที่หรือกำหนดวันที่ในแต่ละเดือนปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ มีความสำคัญมากสำหรับชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนิกกลุ่มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ (Islamic Calendar) เป็นปฏิทินแบบจันทรคติที่ใช้การสังเกตดวงจันทร์จริงๆ (ดิถีจันทร์) เป็นตัวกำหนดวันที่ของเดือน ซึ่งในหนึ่งปีฮิจเราะห์ศักราชจะประกอบด้วย 12 เดือนทางจันทรคติ จะเรียกว่าเดือนกอมารียะห์ และหนึ่งปีฮิจเราะห์ศักราชจะมี 354 วัน หรือ 355 วัน จึงทำให้ปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์เป็นปฏิทินที่ไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล และยังเป็นตัวกำหนดวันสำคัญต่างๆเพื่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนาหรือปฏิบัติศาสนากิจอีกด้วย

การนับวันหรือการกำหนดวันที่ของแต่ละเดือนในปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ จะนับแบบวันที่ 1 ถึง 29 หรือ 30 วัน ซึ่งจะไม่นับเป็นข้างขึ้น ข้างแรม และไม่กำหนดจำนวนวันที่แน่นอนในแต่ละเดือนในรอบปี คือทุก ๆ หนึ่งเดือนในปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์จะมีจำนวนวันเพียง 29 วัน หรือ 30 วัน จะขึ้นอยู่กับผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในวันที 29 ของทุก ๆ เดือน ดังนั้น การสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในวันที่ 29 ของทุก ๆ เดือนนั้นมีความสำคัญมากสำหรับชาวไทยมุสลิม เพราะจะเป็นตัวกำหนดวันหรือเวลาเริ่มต้นของเดือนใหม่ พร้อมกับกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ ในเดือนนั้นอีกด้วย

การกำหนดเวลาเริ่มต้นของเดือนใหม่หรือวันเริ่มต้นเดือนถัดไปในปฏิทินฮิจเราะห์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องคำนึงถึง หากกำหนดวันเวลาเริ่มต้นผิดพลาด การนับวันหรือวันที่ของเดือนนั้น ๆ ก็จะผิดพลาดไป และส่งผลให้การกำหนดวันสำคัญของเดือนนั้น ๆผิดพลาดตามไปด้วย โดยเฉพาะในเดือนที่สำคัญที่จะมีกิจกรรมทางศาสนาหรือการประกอบศาสนกิจ ดังนั้น เพื่อความถูกต้องในการกำหนดวันเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ของปฏิทินฮิจเราะห์ ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาช่วยกันสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ทุกเดือน หรือทุกวันที่ 29 ของเดือน หากผลการสังเกตการณ์ในวันดังกล่าวมีผู้คนสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) พร้อมพยานหลักฐานการมองเห็น จะสามารถส่งขอมูลให้ทางสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อประกาศขึ้นเดือนใหม่ได้ทันที

แต่หากผลการสังเกตไม่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ชาวมุสลิมก็จะนับให้เดือนนั้นมี 30 วัน และหลังจากนับครบ 30 วัน หรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันที่ 30 ก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ทันที หรือวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันเริ่มต้นเดือนใหม่ทันทีโดยไม่ต้องออกไปสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) และในปีฮีจเราะห์ศักราช 1441 ปีนี้ วันเริ่มต้นเดือนกอมารียะห์ จะตรงกับวันที่เท่าไรเมื่อเทียบกับปฏิทินไทยสากล ขึ้นกับผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) หรือคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

4f183c30b0e9ab2c3b1f54febcf561f4 full

รูปที่ 2 คำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ให้ชาวไทยมุสลิมออกมาร่วมกันสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก
ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เพื่อจะกำหนดวันที่ 1 เดือนมูฮัรรอม หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยมุสลิม

  1. เดือนมุฮัรรอม (Muharam) ฮ.ศ. 1441 

จากคำประกาศ (รูปที่ 2) ให้ชาวไทยมุสลิมออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลาหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเพื่อจะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ หรือวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งผลการสังเกตการณ์ในวันดังกล่าว หากมีผู้ที่สามารถเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal) สำนักจุฬาราชมนตรีจะประกาศให้วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ในปีฮีจเราะห์ศักราช 1441 ตรงกับวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562 หากไม่มีผู้ใดสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก วันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ก็จะไปตรงกับวันที่ 1 กันยายน  พ.ศ. 2562 และสามารถกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ ของเดือนมุฮัรรอมได้อีกด้วย เช่น วันอาซูรอ หรือวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรกในวันดังกล่าวปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ดังนั้นวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ในปีฮีจเราะห์ศักราช 1441 ตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกไปสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal) อีกครั้งในวันที่ 29 มุฮัรรอม ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนซอฟาร (Safar) (เดือนที่ 2)

            


รูปที่ 3 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก  

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2562 เพื่อกำหนดเดือนซอฟาร (Safar)

  1. เดือนซอฟาร (Safar) ฮ.ศ. 1441

จากรูปที่ 3 แสดงให้เห็นว่าวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562 พื้นที่บริเวณประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ได้ ดังนั้น ในค่ำคืนวันดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 ก็จะเป็นวันที่ 1 เดือนซอฟาร (เดือนที่ 2) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อคือ ช่วงเวลาเย็นวันที่ 29 เดือนซอฟาร ฮ.ศ. 1441 ซึ่งจะตรงกับวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนถัดไป (เดือนที่3) คือเดือนรอบิอุล เอาวัล (Rabiul Awal)

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562                                 วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562

รูปที่ 4 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)

พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก  

วันที่ 28 , 29 ตุลาคม 2562 เพื่อกำหนดเดือนซอฟาร (Rabiul Awal)

 

  1. เดือนรอบิอุล เอาวัล (Rabiul Awal) ฮ.ศ. 1441

จากรูปที่ 4 แสดงให้เห็นว่า วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 บริเวณประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้น ในช่วงคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น (วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562) จะตรงกับวันที่ 30 เดือนซอฟาร (เดือนที่2) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่เดือนรอบิอุล เอาวัล (เดือนที่3) ในเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนรอบิอุล เอาวัล ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562 และชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อไป ในวันที่ 29 เดือนรอบิอุล เอาวัล ฮ.ศ. 1441 ซึ่งจะตรงกับวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนถัดไป (เดือนที่4) คือเดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir)

เดือนรอบิอุล เอาวัล หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนเมาลิด (Mawlid al-Nabi) ถือได้ว่าเป็นเดือนสำคัญอีกเดือนของชาวมุสลิม เนื่องจากเป็นเดือนเกิดของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งนักวิชาการศาสนาอิสลามมีความเห็นตรงกันว่า ท่านศาสดามูฮัมมัด เกิดในเมืองมักกะห์ ในวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุล เอาวัล และเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมจะได้จัดงานถวายความรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด ในพิธีจะมีการนำประวัติของท่านศาสดามากล่าวถึงเป็นโวหารสดุดี มีการกล่าวด้วยร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งจะอ่านซัลญีหรือหนังสือ อัล-บัร-ซันญี (หนังสือประวัติท่านศาสดามูฮัมหมัด) วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณท่านศาสดาผู้มีพระคุณ และเพื่อสอนให้เยาวชนได้รู้จักบุคคลสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การอ่านดูอาขอพรจากองค์อัลเลาะ

รูปที่ 5 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)

พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก  

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เพื่อกำหนดเดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir)

  1. เดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 5 แสดงให้เห็นว่าวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บริเวณประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ได้ ดังนั้นในค่ำคืนวันดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จะตรงกับวันที่ 1 เดือนรอบิอุล อาเคร ฮ.ศ. 1441 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนรอบิอุล อาเคร ฮ.ศ. 1441 ซึ่งจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 5) คือ เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal)

 วันพฤหัสบดัที่ 25 ธันวาคม 2562               วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2562

รูปที่ 6 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)

พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก

วันที่ 26 , 27 ธันวาคม 2562 เพื่อที่จะกำหนด เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal)

  1. เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าในวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในช่วงคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนรอบิอุล อาเคร (เดือนที่ 4) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่หรือเริ่มนับวันที่ 1 เดือนญามาดีล อาวัล (เดือนที่ 5) ฮ.ศ. 1441 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนญามาดีล อาวัล ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตกันวันที่ 29 เดือนญามาดีล อาวัล ฮ.ศ. 1441  ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 6) คือเดือนญามาดีล อาเคร (Jamadul Akhir)

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 - วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2563
รูปที่ 7 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก 
วันที่ 25 , 26 มกราคม 2563 เพื่อที่จะกำหนดเดือนญามาดิล อาเคร (Jamadul Akhir)

  1. เดือนญามาดิล อาเคร (Jamadul Akhir) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 7 แสดงให้เห็นว่าในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้น ในช่วงคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 26 เดือน มกราคม พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนญามาดีล อาวัล (เดือนที่ 5) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนญามาดีล อาเคร (เดือนที่ 6) ฮ.ศ. 1441 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันอาทิตย์ที่ 26 เดือน มกราคม พ.ศ. 2563 หรือจะสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนญามาดีล อาเคร ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนญามาดีล อาเคร (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน7) คือเดือนรอญับ (Rajap)

รูปที่ 8 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก 
วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อกำหนดเดือนรอญับ (Rajap)

  1. เดือนรอญับ (Rajap) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่าวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บริเวณประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ได้ ดังนั้น ในค่ำคืนวันดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 1 เดือนรอญับ (เดือน 7) ฮ.ศ. 1441 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนรอญับ ฮ.ศ. 1441 ซึ่งจะตรงกับวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 8) คือเดือนชะบาน (Shaban)


วันอังคารที่ 24 มีนาคม 2563 - วันพุธที่ 25 มีนาคม 2563
รูปที่ 9 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก
วันที่ 24 , 25 มีนาคม 2563 เพื่อที่จะกำหนดเดือนชะบาน (Shaban)

  1. เดือนชะบาน (Shaban) ฮ.ศ. 1441

        รูปที่ 9 แสดงให้เห็นว่าในวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในช่วงคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น วันพุธที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนรอญับ (เดือนที่ 7) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนชะบาน (เดือนที่ 8) ฮ.ศ. 1441 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันพุธที่ 25 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือจะสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนชะบาน ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนชะบาน (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งตรงกับวันพฤหัสดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน 9) คือ เดือนรอมฎอน (Ramadan) ซึ่งเป็นเดือนที่สำคัญมากสำหรับชาวมุสลิม ดังนั้น ทุก ๆ วันที่ 29 เดือนชะบาน ชาวไทยมุสลิมจะร่วมกันออกมาสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในเวลาเย็นวันดังกล่าว ซึ่งผลการสังเกตการณ์จันทร์เสียวแรกในครั้งนี้จะใช้ประกาศวันที่เริ่มต้นถือศีลอดเดือนรอมฎอนหรือประกาศเริ่มเดือนรอมฎอนนั้นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563 - วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563
รูปที่ 10 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) 
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก
วันที่ 23 , 24 เมษายน 2563 เพื่อที่จะกำหนดเดือนรอมฎอน (Ramadan)

  1. เดือนรอมฎอน (Ramadan) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 10 แสดงให้เห็นว่าในวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้น ในช่วงคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ 24 เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนซะบาน (เดือนที่ 8) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9) เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันศุกร์ที่ 24 เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 หรือจะสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9) ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนรอมฎอน (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เพื่อจะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน 10) คือเดือนเชาวัล (Shawwal) พร้อมกับกำหนดวันอิดฎิ้ล ฟิฏตรี (วันฮารีรายอ) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวัล

รูปที่ 11 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) 
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก
วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดเดือนเชาวัล (Shawwal)

  1. เดือนเชาวัล (Shawwal) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 11 แสดงให้เห็นว่าวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 บริเวณประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ได้ ดังนั้น ในค่ำคืนวันดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวัล (เดือน 10) ฮ.ศ. 1441 ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ของชาวไทยมุสลิมหลังจากที่ได้ถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา หรือที่เรียกกันว่าวันอิดฎิ้ล ฟิฏตรี (วันฮารีรายอ) และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนเชาวัล ฮ.ศ. 1441 ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 11) คือ เดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah)

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 - วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563
รูปที่ 12 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก
วันที่ 21 , 22 มิถุนายน 2563 เพื่อที่จะกำหนด เดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah)

  1. เดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 12 แสดงให้เห็นว่าในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนเชาวัล (เดือน 10) ฮ.ศ. 1441 และชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนซุลกอดะห์ (เดือน 11) เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563 หรือจะสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah) ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนซุลกอดะห์ (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน 12) คือเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) และกำหนดวันอิดฎิ้ล อัฎฮา (วันฮารีรายอ ฮัจญี) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah)

 

รูปที่ 13 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) 
พื้นที่สีเขียวจะเป็นบริเวณที่จะสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก
วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah)

  1. เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) ฮ.ศ. 1441

      จากรูปที่ 13 แสดงให้เห็นว่าในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นหรือเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาค่ำคืนวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และวันรุ่งขึ้นจะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือน 12) หรือสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 พร้อมกับกำหนดวันสำคัญเดือนซุลฮิจญะฮ์ คือ วันอิดฎิ้ล อัฎฮา (วันฮารีรายอ ฮัจญี)ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ของทุกๆปี ดังนั้นในปีนี้ วันอิดฎิ้ล อัฎฮา (วันฮารีรายอ ฮัจญี) ประจำปี ฮ.ศ. 1441 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในครั้งต่อเพื่อที่จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ หรือกำหนดวันเริ่มต้นเดือนมูฮัรรอม (เดือนที่1) ปีฮิจเราะห์ศักราชใหม่ (ฮ.ศ. 1442) จะสังเกตในช่วงเวลาเย็นของวันที่ 29 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือน 12)  ซึ่งจะตรงกับวันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตารางที่ 1 ตารางเปรียบเที่ยบวันเริ่มต้นเดือนใหม่ตามปฏิทินฮิจเราะห์ ประจำปี ฮ.ศ. 1441 กับปฏิทินสากลประจำปี 2562 - 2563

ลำดับที่

เดือนปฏิทินฮิจเราะห์

วันที่ / เดือนปฏิทินสากล

1

วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (Muharam)

วันที่ 1 กันยายน 2562

2

วันที่ 1 เดือนซอฟาร (Safar) 

วันที่ 30 กันยายน 2562

3

วันที่ 1 เดือนรอบิอุล เอาวัล (Rabiul Awal)

วันที่ 30  ตุลาคม 2562

4

วันที่ 1 เดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir)

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 

5

วันที่ 1 เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal)

วันที่ 28 ธันวาคม 2562      

6

วันที่ 1 เดือนญามาดิล อาเคร (Jamadul Akhir)

วันที่ 27 มกราคม 2563

7

วันที่ 1 เดือนรอญับ (Rajap)

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563

8

วันที่ 1 เดือนชะบาน (Shaban)

วันที่ 26 มีนาคม  2563

9

วันที่ 1 เดือนรอมฎอน (Ramadan)

วันที่ 25 เมษายน 2563

10

วันที่ 1 เดือนเชาวัล (Shawwal)

วันที่ 24 พฤษภาคม 2563

11

วันที่ 1 เดือนซุลดอดะห์ (Zul Qadah)

วันที่ 23 มิถุนายน 2563

12

วันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2563

 *หมายเหตุ การกำหนดเวลาเริ่มต้นเดือนกอมารียะห์ หรือวันที่ 1 ของเดือนปฏิทินฮิจเราะห์ของชาวไทยมุสลิมจะใช้ผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) เป็นหลัก หรือยึดประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

เรียบเรียง : รอยาลี  มามะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ - สดร


แหล่งข้อมูลมูลอ้างอิง

หนังสือ อัลฟาลัก ดาราศาสตร์ปัฏิบัติสำหรับมุสลิม “นิแวเต๊ะ หะยีวามิง”


อ้างอิงภาพ

รูปที่ 2 https://www.skthai.org/th/news/81629-การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่-1-เดือนซอฟัร-ฮิจเราะห์ศักราช-1441

รูปที่ 3 -13 https://www.staff.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm “Universiteit Utrecht”