AVspec ฐานข้อมูลสเปกตรัม มือสมัครเล่น หรือมืออาชีพ “ ใครๆ ก็เข้าถึงได้”

“ ใครๆ ก็เข้าถึงได้”“เรารู้ได้อย่างไรว่า ดาวดวงนั้น ดวงโน้น ดวงนี้ ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง มีอุณหภูมิเท่าไร่ มีอัตราเร็วในการหมุนแค่ไหน เป็นดาวฤกษ์ประเภทไหน” …..?

ประโยคข้างต้นมักจะได้พบเจอบ่อย ๆ จากนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่มีความหลงไหลในดาราศาสตร์ ปกติเราดูดาวบนท้องฟ้า เราไม่สามารถบอกได้ทันทีทันใดว่าดาวที่เรามองเห็นนั้นประกอบด้วยธาตุอะไร มีอัตราเร็วเท่าไหร่ หรืออุณหภูมิของดาวเท่าใด นักดาราศาสตร์ใช้เทคนิคการแยกแสงออกเป็นสเปกตรัม (สเปกโตรสโคปี (Spectroscopy)) ในการศึกษาองค์ความรู้ดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า สเปกโตรกราฟ (Spectrograph) ต่อเข้ากับกล้องโทรทรรศน์ที่ทำหน้าที่รวมแสงของวัตถุท้องฟ้าอยู่แล้ว และแยกแสงนั้นให้แตกออกเป็นแถบสเปกตรัมที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกัน เช่นเดียวกับการที่เราเอาปริซึมไปวางรับแสงจากดวงอาทิตย์ หรือรุ้งกินน้ำที่เกิดขึ้น (แสงสีรุ้งของรุ้งกินน้ำคือสเปกตรัมของดวงอาทิตย์) ซึ่งดาวแต่ละดวงก็จะมีก็จะมีแถบสเปกตรัมที่แตกต่างกันออกไปคล้ายกับคนแต่ละคนที่จะมีเอกลักษณ์ของเส้นลายนิ้วมือที่แตกต่างกัน 

AVSpec

การศึกษาข้อมูลสเปกตรัมขั้นสูงนั้นอาจจะต้องลงทุนด้วยอุปกรณ์สังเกตการณ์ที่มีต้นทุนสูง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับหน่วยงานขนาดเล็ก หรือมือสมัครเล่นที่จะต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ในการสังเกตการณ์ด้วยตนเอง ล่าสุดสมาคมผู้สังเกตการณ์ดาวแปรแสงแห่งอเมริกา (American Association of Variable Star Observers (AAVSO)) เปิดโอกาสให้ผู้สังเกตการณ์จากทั่วโลกสามารถเข้าไปร่วมใช้ฐานข้อมูลและเครื่องมือในการศึกษาสเปกตรัมของพวกเขาได้ โดยฐานข้อมูลใหม่ที่ชื่อว่า AVSpec ซึ่งพัฒนาโดยจอร์จ ซิลวิส (George Silvis) เขาใช้เวลาในการพัฒนาฐานข้อมูลประมาณ 3 ปี และสร้างเป็นฐานข้อมูลแบบเปิด เพื่อรองรับการใช้งานจากผู้สังเกตการณ์ทั่วโลก ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการเก็บข้อมูลวัตถุท้องฟ้าให้กับที่สมาคมผู้สังเกตการณ์ดาวแปรแสงแห่งอเมริกาผ่านทางเว็บไซต์ https://www.aavso.org/ ซึ่งจะช่วยให้ฐานข้อมูลสเปกตรัมนั้นมีข้อมูลมากขึ้น จากเดิมที่ใช้นักดาราศาสตร์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คนเก็บข้อมูล อาจไม่เพียงพอและไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า เช่นการเกิดโนวาของดาว ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น หากไม่สังเกตการณ์ให้ทันท่วงทีก็จะไม่สามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ ดังภาพข้อมูลของสเปกตัรมของดาวแปรแสง Theta Circini เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

AAVSO AVSpec 600px

ภาพสเปกตรัมของดาวแปรแสง Theta Circini เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 บันทึกโดยหนึ่งในอาสาสมัคร 

ไรอัน มาเดแรก (Ryan Maderak) หัวหน้าชุดสังเกตการณ์ข้อมูลสเปกตรัม ของ AAVSO กล่าวว่า ผู้สนใจทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลหรือดาวน์โหลดข้อมูลการสังเกตการณ์ของ AAVSO ไปใช้ในการศึกษาได้เนื่องจากข้อมูลจากฐานข้อมูล AVSpec นี้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชียวชาญก่อนที่จะนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะทุก ๆ ชุดข้อมูล จึงมีความถูกต้องทางวิชาการสูง และทีมเจ้าหน้าที่จากฐานข้อมูลสเปกตรัมของ AAVSO ต่างเชื่อว่า หลังจากนี้จะได้รับข้อมูลการสังเกตการณ์ที่มากขึ้นจากการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครหรือผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยข้อมูลจากเครื่องมือของพวกเขาอย่างแน่นอน

เรียบเรียง : ธีรยุทธ์ ลอยลิบ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
สถาบันวิจัยดารศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อ้างอิง : https://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/aavso-spectra-database/