ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อกำหนดเดือนชะบาน (Shaban) ฮ.ศ.1441

เนื่องจากวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตรงกับวันที่ 1 เดือนรอญับ (Rajab) ฮ.ศ. 1441 ดังนั้นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ครั้งต่อไปจะตรงกับวันที่ 29 เดือนรอญับ ฮ.ศ. 1441 หรือวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันเวลาดังกล่าว จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนชะบาน (Shaban) หากมีผู้คนสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก  ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันเริ่มต้นเดือนชะบาน (Shaban) ฮ.ศ. 1441

 as20200326 1 01

รูปที่ 1 แผนที่คาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) วันที่ 24  มีนาคม 2563 เพื่อที่จะกำหนดเดือนชะบาน (Shaban)

พื้นที่สีส้มไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ พื้นที่สีเหลืองสามารถเห็นดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และพื้นที่สีเขียวสามารถเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า

 

   แต่หากไม่มีผู้คนเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรกในช่วงเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกของวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ชาวไทยมุสลิมก็จะนับให้วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 หรือเป็นวันสุดท้ายของเดือนรอญับ (Rajab) ฮ.ศ. 1441 และเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนชะบานทันที และจะนับให้วันที่ 1 ชะบาน (Shaban) ฮ.ศ. 1441 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

ข้อมูลของดวงจันทร์ในวันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ดวงจันทร์ดับเกิดขึ้นเวลาประมาณ 16:29 น. ดังนั้นในช่วงเวลาทำการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก อายุของดวงจันทร์ประมาณ 2 ชั่วโมง ณ ตำเหน่งผู้สังเกตจังหวัดสงขลา ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:28 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 18:32 น. จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าตามหลังดวงอาทิตย์ประมาณ 3 นาที ดังนั้น จึงยากมากที่จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรกในวันดังกล่าว

 

as20200326 1 02

รูปที่ 2 ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ตกที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตก

ณ ตำแหน่งอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันอังอารที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563

 

*หมายเหตุ การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนของปฏิทินอิสลาม) ให้ยึดผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) หรือผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก

 

เรียบเรียงโดย

รอยาลี  มามะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิงภาพ

รูปที่ 1 https://www.staff.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm

รูปที่ 2 ถาพจากซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์ (Stellarium)