ภาพถ่ายพื้นผิวของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาโดยเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ในเที่ยวบินที่ 9 ทำให้ทีมควบคุมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) ได้รับภาพในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ช่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายต่อรถสำรวจ รวมถึงอินเจนูอิตีสามารถระบุจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดบริเวณของชั้นหินแต่ละชั้นได้ โดยแต่ละชั้นหินทำหน้าที่เสมือนเป็นแคปซูลเวลาที่เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในยุคโบราณบนดาวอังคารเอาไว้

as20210720 1 01

https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/1-pia24730-ingenuity-spots-rover-tracks-during-ninth-flight.jpg

 

ภาพสีความคมชัดสูงจากอินเจนูอิตีถ่ายจากความสูงประมาณ 10 เมตรเหนือพื้นผิวดาวอังคาร แสดงให้เห็นรายละเอียดได้มากกว่าการใช้ภาพจากยานอวกาศที่ระดับวงโคจร ซึ่งปกติแล้วทีมควบคุมจะใช้ภาพถ่ายมุมสูงจากยานที่โคจรรอบดาวอังคารร่วมกับกล้องที่ติดไปกับรถสำรวจ เพื่อพิจารณาเส้นทางการสำรวจ ข้อเสียคือที่ยานโคจรรอบนั้นอยู่สูงจากพื้นผิวกว่า 200 กิโลเมตร และกว่าที่รถสำรวจจะตรวจเจอสิ่งที่อาจเป็นอันตรายก็อาจจะไม่ทันการณ์แล้ว  ดังนั้น ภาพถ่ายจากอินเจนูอิตีจึงเสมือนเป็นการเติมเต็มช่องว่างในการสำรวจเส้นทางล่วงหน้าเพื่อวางแผนให้เพอร์เซเวียแรนส์เดินทางได้อย่างราบรื่นที่สุด

 

as20210720 1 02

https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/e2-pia24727-ingenuity-spots-raised-ridges-during-ninth-flight.jpg

 

อินเจนูอิตีถ่ายภาพความละเอียดสูงของบริเวณที่เรียกว่า "Raised Ridges" เป็นลักษณะของหินที่มีการแตกหักที่นักดาราศาสตร์เชื่อเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีลำธารของเหลวที่ไหลอยู่ใต้ดิน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหลุมอุกกาบาตเจซีโรเคยเป็นทะเลสาบเมื่อหลายพันล้านปีก่อน จากการสำรวจแนวสันเขาโดยใช้ภาพถ่ายที่ระดับวงโคจรของดาวอังคาร นักดาราศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานว่าอาจจะมีบริเวณที่น้ำไหลผ่านแล้วละลายแร่ธาตุให้เกิดเป็นแร่ธาตุสำคัญของจุลินทรีย์ในยุคโบราณได้  หลุมอุกกาบาตเจซีโรจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของการสำรวจดาวอังคารในครั้งนี้

 

as20210720 1 03

https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/e3-pia24725-ingenuity-spots-dune-fields-during-ninth-flight.jpg

 

เนินทรายอย่างที่เห็นในภาพนี้ อาจทำให้ยานเพอร์เซเวียแรนส์ที่มีน้ำหนักถึง 1 ตัน ติดได้อย่างง่ายดายและไม่สามารถกลับขึ้นมาได้อีก (เหตุการณ์เหล่านี้คงนึกภาพได้ไม่ยาก สำหรับคนที่ชอบขับรถไปจอดบริเวณหาดทรายบ่อย ๆ) แม้ว่ายานเพอร์เซเวียแรนส์จะมีการใช้ AI อัลกอรึทึม ที่เรียกว่า Auto-Navigation Function (AutoNav) เพื่อทำให้รถโรเวอร์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองพร้อมกับหลีกเลี่ยงก้อนหินและอันตรายอื่น ๆ ได้ดี แต่ !! AutoNav ไม่สามารถตรวจจับทรายได้ สรุปคือ “ทราย! เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรระวัง” ดังนั้นทางทีมควบคุมยานเพอร์เซเวียแรนส์จำเป็นต้องกำหนด “เขตป้องกัน” เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้

 

as20210720 1 04

https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/e4-pia24726-ingenuity-spots-rocks-during-ninth-flight.jpg

 

หากปราศจากอินเจนูอิตี ทีมควบคุมเพอร์เซเวียแรนส์จะไม่มีวันได้เห็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและอันตรายสำหรับรถโรเวอร์ได้ อย่างเช่น บริเวณที่เรียก เซอิทาห์ (Séítah) ที่เต็มไปด้วยทรายเกินกว่าที่เพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางผ่านได้ มุมมองที่แตกต่างและมีรายละเอียดที่เพียงพอ จะช่วยประเมินเส้นทางของรถสำรวจดาวอังคารให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งสำหรับเพอร์เซเวียแรนส์และสำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคต  และสามารถทำความเข้าใจภูมิประเทศของพื้นที่ลงจอดได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

เรียบเรียง ธราดล ชูแก้ว - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร

 

ที่มา

https://www.nasa.gov/feature/jpl/nasa-s-mars-helicopter-reveals-intriguing-terrain-for-rover-team

https://mars.nasa.gov/resources/26020/perseverances-first-autonav-drive/

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 1358