เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 นักดาราศาสตร์ NASA ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ชื่อ TOI-700 e มีขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable zone) ในระบบที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์หินขนาดเล็กคล้ายกับระบบสุริยะของเรา ด้วยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์หินดวงที่สองที่ถูกค้นพบในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตของระบบดาวเคราะห์ TOI-700

as20230116 5 01

 

ระบบดาวเคราะห์ TOI-700 เป็นระบบดาวเคราะห์ที่มีดาวฤกษ์เป็นดาวแคระแดง มีมวลประมาณ 40% ของดวงอาทิตย์ ห่างจากโลกประมาณ 100 ปีแสง ในปี พ.ศ. 2563 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ได้ค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในระบบดังกล่าวได้แก่ TOI-700 b, TOI-700 c และ TOI-700 d ทั้ง 3 ดวงเป็นหินขนาดเล็กที่มีรัศมี 1-2.6 เท่าของรัศมีของโลก และมีดาวเคราะห์หนึ่งดวง คือ ดาวเคราะห์ TOI-700 d มีวงโคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable zone) ซึ่งอาจพบน้ำบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดังกล่าวได้

จากการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ในปี พ.ศ. 2564 ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์เพิ่มเติมในระบบดังกล่าวอีกหนึ่งดวง คือ TOI-700 e มีขนาดใกล้เคียงกับโลก มีรัศมีประมาณ 95% ของรัศมีโลก และโคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ TOI-700 d มีคาบการโคจร 28 วัน

 

 

แม้ว่าดาวเคราะห์ TOI-700 e ที่เพิ่งถูกค้นพบนั้นจะอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แต่ด้วยคาบการโคจรที่ใกล้กับดาวฤกษ์อาจทำให้ดาวเคราะห์ TOI-700 e หันด้านเดียวเข้าสู่ดาวฤกษ์ (Tidally lock) อาจให้อุณหภูมิในฝั่งที่ได้รับแสงกับฝั่งที่ไม่ได้รับแสงจากดาวฤกษ์แตกต่างกันมาก และนอกจากนี้ดาวเคราะห์ TOI-700 e โคจรในเขตที่เรียกว่า เขตที่คาดว่าจะเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Optimistic habitable zone) ทำให้หากมีน้ำบนดาวเคราะห์ TOI-700 e น้ำจะเป็นของเหลวในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของอายุดาวเคราะห์เท่านั้น แตกต่างจากดาวเคราะห์ TOI-700 d ที่โคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง (Continuous habitable zone) ทำให้หากมีน้ำบนดาวเคราะห์ TOI-700 d น้ำจะเป็นของเหลวตลอดเวลา

การค้นพบดาวเคราะห์ TOI-700 e ยืนยันถึงสมรรถนะของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ในการค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็กคล้ายโลกซึ่งหาได้ยาก และจากการที่ระบบดาวเคราะห์ TOI-700 ประกอบด้วยดาวเคราะห์ขนาดเล็กจำนวนมากคล้ายระบบสุริยะ ทำให้การค้นพบนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงการเกิดระบบสุริยะของเรามากขึ้น ในอนาคตนักดาราศาสตร์จะได้สังเกตการณ์เพิ่มเติมในระบบดาวเคราะห์ TOI-700 เพื่อค้นหาดาวเคราะห์เพิ่มเติม และศึกษาสมบัติต่างๆ และชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ในระบบนี้

ในส่วนของนักวิจัยของ NARIT ได้มีการศึกษาและค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอย่างต่อเนื่อง มีการใช้กล้องโทรทรรศน์ในเครือข่ายของ NARIT และฐานข้อมูลกล้องโทรทรรศน์อวกาศ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ทั้งนี้ในปัจจุบันนักวิจัยของ NARIT ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบถึง 11 ดวง และคาดว่าจะมีการค้นพบเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้

 

เรียบเรียง: ดร. ศุภชัย อาวิพันธ์ - นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์

 

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/feature/nasa-s-tess-discovers-planetary-system-s-second-earth-size-world

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 11997