22 มีนาคม 2023 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ตรวจพบ “ยูราซิล (Urasil)” ในตัวอย่างดินของดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของ RNA รวมถึงยังตรวจพบกรดนิโคตินิก (Nicotinic acid, Niacin) หรือวิตามินบี 3 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น ช่วยสนับสนุนสมมติฐานที่ทำนายว่า องค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้น มีการก่อตัวขึ้นในวัตถุอวกาศอื่น ๆ ในระบบสุริยะ และเมื่อวัตถุเหล่านี้พุ่งชนโลก จึงทำให้โลกของเรามีวัตถุดิบมากพอที่จะก่อตัวไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้ได้

as20230524 4 01

 

งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดยรองศาสตราจารย์ Yasuhiro Oba จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications

Yasuhiro Oba ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่เคยค้นพบสารประกอบนิวคลีโอเบสและโมเลกุลวิตามินในอุกกาบาตบนโลกมาแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่า ผลการวิจัยนั้นอาจถูกปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมของโลกได้ แตกต่างไปจากการวิจัยในครั้งนี้ ที่เป็นการเก็บตัวอย่างดินจากดาวเคราะห์น้อยโดยตรง แล้วส่งกลับมายังโลก การปนเปื้อนจึงแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย

ทีมนักวิจัยนำตัวอย่างดินของดาวเคราะห์น้อยริวงูมาวิเคราะห์โดยวิธีการ Liquid Chromatography ร่วมกับวิธีการ Mass Spectrometry เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของตัวอย่างสสาร พบว่าในดินของดาวเคราะห์น้อยริวงูมียูราซิลเป็นองค์ประกอบประมาณ 6 - 32 ppb (6-32 ส่วนในพันล้านส่วน) ซึ่งยูราซิลเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของ RNA และพบกรดนิโคตินิก หรือวิตามินบี 3 ประมาณ 49 - 99 ppb ที่เป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิซึมของสิ่งมีชีวิต รวมถึงยังตรวจพบสารประกอบอื่น ๆ เช่น กรดอะมิโน สารประกอบเอมีน และกรดคาร์บอกซิลิก ที่พบในโปรตีนและกระบวนการเมตาบอลิซึมเช่นกัน

 

as20230524 4 02

ซ้าย : ดินจากดาวเคราะห์น้อยริวงูจากการลงสัมผัสดาวครั้งแรกของยาน Hayabusa-2

ขวา : ดินจากดาวเคราะห์น้อยริวงูจากการลงสัมผัสดาวครั้งที่ 2 ของยาน Hayabusa-2

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ตัวอย่างดินที่นำกลับมาจากดาวเคราะห์ริวงูแต่ละแคปซูลนั้น มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยแต่ละแคปซูลจะเป็นการเก็บตัวอย่างดินในตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยที่แตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะแต่ละตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยได้รับรังสีจากอวกาศที่แตกต่างกัน ทำให้สารประกอบก่อตัวได้แตกต่างกัน รวมถึงยังตั้งสมมติฐานว่า สารประกอบไนโตรเจนที่พบเหล่านี้น่าจะก่อตัวขึ้นจากโมเลกุลที่เรียบง่ายกว่านี้ เช่น แอมโมเนีย ฟอร์มัลดีไฮด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งไม่พบในดาวเคราะห์น้อยริวงู แต่พบได้ทั่วไปในน้ำแข็งของดาวหาง บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์น้อยริวงูอาจเคยเป็นดาวหางมาก่อน หรือในอดีตอาจเคยอยู่ในสภาพที่เยือกแข็งมากกว่านี้

 

อ้างอิง :

https://www.global.hokudai.ac.jp/blog/uracil-found-in-ryugu-samples/

 

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 510