Ep. 30 ถอดรหัสยุทธศาสตร์ นวัตกรรมองค์กรสู่องค์กรสร้างนวัตกรรมของ NARIT

 30 01

          5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา NARIT ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2564 ด้านองค์กรนวัตรรมดีเด่น ประเภทองค์กรภาครัฐ ราชการ และประชาสังคม นับเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์ ด้านวิจัยและวิชาการหน่วยงานแรกที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย

          สำหรับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาตินั้น ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติสูงสุดในแวดวงนวัตกรรมของประเทศไทย จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ที่มีความโดดเด่นและเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติในหลากหลายด้าน และในปี 2564 นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประกวดองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประเภทองค์กรภาครัฐ ราชการ และประชาสังคม หน่วยงานที่ได้รับรางวัลนี้มี 2 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กรมสรรพากร และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

          องค์กรนวัตกรรมในที่นี้ เป็นการมองภาพรวมขององค์กรในทุกมิติ ไม่ใช่แค่หน่วยงานที่ผลิตผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการ การดำเนินงาน การให้บริการ และการตั้งเป้าหมายขององค์กรในอนาคตด้วย

          วันนี้ จึงขอหยิบยกแนวคิดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรมของ NARIT มาเล่าให้ฟังกันสักหน่อยครับ…

 

          NARIT มีวิสัยทัศน์หลักคือ “เป็นองค์กรวิจัยดาราศาสตร์ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” และมีพันธกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) การวิจัยด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์บรรยากาศ 2) การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อวกาศ 3) การสร้างความตระหนักและบริการวิชาการดาราศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนการศึกษา และ 4) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กร ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ปรัชญา “Astronomy : A challenge that drives human capacity and technology developments” ใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ท้าทายการพัฒนาคน และพัฒนาเทคโนโลยี” 


#ทศวรรษแรก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากำลังคน สร้างเครือข่ายความร่วมมือ

          นับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันฯ (พ.ศ. 2552) NARIT มุ่งมั่นพัฒนาดาราศาสตร์ไทยในทุกด้าน วางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้นักดาราศาสตร์ไทยสามารถผลิตผลงานวิจัยได้เทียบเคียงกับนานาชาติ สร้างเครือข่ายหอดูดาวภูมิภาคสำหรับบริการประชาชน สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการสื่อสารดาราศาสตร์ในหลากหลายรูปแบบ สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้คนไทยหันมาสนใจ วิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างเครือข่ายทางวิชาการและความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ในมิติต่าง ๆ กับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 

          ภารกิจหลักอันโดดเด่นที่ NARIT ดำเนินการมาอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ คือสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดาราศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนำเสนอบทบาทขององค์กร ผ่านกิจกรรม และการให้บริการวิชาการดาราศาสตร์ ตั้งแต่สนับสนุนการเรียนการสอนดาราศาสตร์ กิจกรรมดาราศาสตร์และการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ  ควบคู่ไปกับการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ด้วยการสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเพื่อให้บริการดาราศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง ทำให้งานบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์ของ สดร. มีความโดดเด่น และแตกต่างจากหน่วยงานวิจัยดาราศาสตร์ทั่วโลก แบบอย่างที่ดีที่หลายประเทศสนใจและประสงค์จะนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในประเทศของตน อาทิ สปป. ลาว ราชอาณาจักรภูฏาน บอสวานา ฯลฯ และเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนคนไทยรู้จัก NARIT เป็นอย่างดีในภาพลักษณ์ “องค์กรดูดาว”

 

#ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ใช้ดาราศาสตร์พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน

          ปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ปีที่ 13 NARIT มุ่งเน้นการดำเนินภารกิจสร้างงานวิจัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ให้สามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต และสิ่งสำคัญเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในองค์กร และท้าทายให้ทำเรื่อง “ยาก” เพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น จนทำให้องค์รวมของสถาบันฯ มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่เพียงส่งเสริมความก้าวหน้าในการทำงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำองค์ความรู้ไปสนับสนุนหรือช่วยเหลือหน่วยงานอื่น ๆ ได้อีกด้วย 

 

#ใช้โจทย์ยากทางดาราศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้า 

          โจทย์วิจัยดาราศาสตร์เป็นความท้าทายยิ่งยวดเฉพาะตัวจนผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหลายด้าน พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการวิจัยอย่างเข้มข้น ใช้เวลา ทุน และกำลังคนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อันเป็นอุปสรรคของภาคอุตสาหกรรม เพราะต้องใช้ระยะเวลาการลงทุนให้เกิดผลตอบแทนเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดยาวนานเกินกว่าเอกชนจะแบกรับความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนวิจัยดาราศาสตร์นั้นก่อให้เกิดผลพลอยได้เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยีกล้องดิจิทัล ที่พัฒนาใช้ในการวิจัยดาราศาสตร์ในยุค 1970 เทคโนโลยี Wi-Fi ที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัยดาราศาสตร์วิทยุในยุค 1980 หรือการใช้เทคโนโลยี Big Data ในการบริหารจัดการข้อมูลปริมาณมาก ที่เริ่มนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลดาราศาสตร์ในยุค 1990  แสดงให้เห็นว่าการวิจัยดาราศาสตร์ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมในทันทีที่มีความต้องการ 

          NARIT มุ่งใช้โจทย์ที่ท้าทายที่สุดทางดาราศาสตร์ เป็นยุทธศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้า ผลักดันเทคโนโลยีที่ต้องคิดค้นขึ้นเพื่อตอบโจทย์วิจัยดาราศาสตร์ และพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปสู่การสร้างมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร

          ด้วยเหตุนี้ NARIT จึงมีนโยบายตั้งห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมจากการวิจัยดาราศาสตร์ไปสู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีความพร้อมเชิงการตลาด โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก มุ่งบ่มเพาะทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงและกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกด้านวิศวกรรมโฟโตนิกส์และทัศนศาสตร์ วิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมสัญญาณไมโครเวฟ วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ การทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงเหล่านี้ จะสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์กว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการพัฒนาทัศนูปกรณ์ทางดาราศาสตร์เท่านั้น

          การลงทุนเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการใช้โจทย์ที่ท้าทายที่สุดในการพัฒนากำลังคน เพื่อเป็นหลักประกันของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ที่อาจมองได้ว่าการลงทุนเพื่อวิจัยดาราศาสตร์นั้นเป็น “Deepest niche of the Deep Tech” ที่อาจไม่ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมเพราะไม่เห็นผลตอบแทนในระยะสั้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สถาบันวิจัยระดับชาติที่จะผลักดันการสร้างหลักประกันของชาติด้วยยุทธศาสตร์นี้

 

#เป้าหมายการพัฒนาใน 5 ปี ข้างหน้า 

          NARIT ตั้งเป้ายกระดับไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านการวิจัยดาราศาสตร์ ระบบนิเวศเทคโนโลยีขั้นสูง สังคมอุดมปัญญา และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของชาติ ภายใต้ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รายล้อมประเทศไทยในศตวรรษปัจจุบัน 

 

          การได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติอันทรงเกียรติครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรทุกคนในสถาบัน และถือเป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจ และทุ่มเทของคนทั่วทั้งองค์กรที่ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมในทุกด้านทั่วทั้งองค์กร

          การได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติอันทรงเกียรติครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจ และถือเป็นบทพิสูจน์ความทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจ ของบุคลากรทั่วทั้งองค์กรที่ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมในทุกด้านของ NARIT ให้เกิดขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรนวัตกรรมดีเด่นในปีนี้