สมเด็จย่ากับดาราศาสตร์

สมเด็จย่ากับดาราศาสตร์

ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ปรากฏมาจนถึงช่วงเวลาบั้นปลายของพระชนมชีพ

ข้อมูล

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ:

ยุคทององดาราศาสตร์ไทย

หนังสือในชุด พระมหากษัตริย์กับนักดาราศาสตรไทย

            นาวาเอกพิเศษกมล จิตต์จำนง รน. ผู้เคยมีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางทะเลตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ได้เล่าถึงความประทับใจในพระปรีชาและความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของพระองค์ท่านตอนหนึ่งว่า “บางคืน พระองค์ท่านเสด็จประทับบนดาดฟ้าเรือ ทอดพระเนตรดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยสายพระเนตรเปล่า มิได้ทรงใช้กล้อง หลังจากที่พวกเรากราบบังคมทูลอธิบายชื่อกลุ่มดาวเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ก็รับสั่งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน ทั้งทรงชี้ชวนให้พวกเราดูกลุ่มดาวที่ทรงรู้จักต่ออีก บางคืนประทับทอดพระเนตรดวงดาวอยู่จนดึก ‘สมเด็จย่า’ ทรงรอบรู้รากศัพท์ทางวิชาการต่างๆ แม้ชื่อต้นไม้ รับสั่งทั้งชื่อสามัญและชื่อภาษาละติน ทำให้พวกผมได้มีความรู้กว้างขวางไปอีกด้วย”

            ในการสร้างพระตำหนักดอยตุงที่ทรงโปรดเรียกว่า “บ้านที่ดอยตุง” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงโปรดให้นายอารี สวัสดี กรรมการที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผ่านการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ออกแบบร่างกลุ่มดาวต่างๆ สำหรับจัดทำภาพแกะสลักไม้ประดับเพดานห้องโถงใหญ่ซึ่งอยู่ติดกับส่วนที่ประทับ มีรับสั่งว่า “ฉันอยากได้เพดานห้องโถงที่ไม่แพง” ด้วยไม่โปรดโคมระย้าของต่างประเทศ เพดานตำหนักจึงตกแต่งเป็นภาพไม้แกะสลักรูประบบสุริยะ กลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่มและกลุ่มดาวสำคัญ 12 กลุ่ม ฝีมือช่างแห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

 

PP04คำอธิบายที่พระตำหนักดอยตุง

 

พื้นที่ของเพดานดาวมีความกว้าง 7 เมตร ยาว 14 เมตร ด้านกว้างวางในแนวทิศเหนือ-ใต้ ด้านยาวในทิศตะวันออก-ตะวันตก การตกแต่งส่วนนี้ได้ความบันดาลใจจากความสนพระราชหฤทัยทางดาราศาสตร์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนทรงมีพระปรีชาในการสังเกตท้องฟ้าและดวงดาวเป็นพิเศษ ทรงมีพระราชประสงค์และทรงวินิจฉัยกลุ่มดาว 24 กลุ่ม ที่สถิตอยู่ในวงรีชั้นกลาง 12 กลุ่มเรียกกลุ่มจักรราศี หรือกลุ่มดาวนักษัตร (Zodiac) กลุ่มดาวราศีเมษจะอยู่ทางด้านทิศเหนือตรงกับเสาต้นกลางท้องพระโรงพอดี เรียงทวนเข็มนาฬิกาไปทางตะวันตกเป้นกลุ่มดาวราศีพฤษภ มิถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มกร กุมภ์ และมีน ตามลำดับ

 

PP05

แผนผังดาวที่พระตำหนักดอยตุง

ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนายอารี สวัสดี

 

สำหรับกลุ่มดาวอีก 12 กลุ่มที่สถิตในวงรีรอบนอก นับตั้งแต่เสาต้นกลางท้องพระโรงด้านทิศเหนือเรียงทวนเข็มนาฬิกาไปทางตะวันตกเป็นกลุ่มดาวหมีเล็ก ที่ปลายหางของดาวหมีเล็กคือ ดาวเหนือ (Polaris) กลุ่มดาวถัดไปเป็นกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) พิณ (Lyra) หงส์ (Cygnus) นกอินทรี (Aquila) กางเขนใต้ (Crux) เรืออาร์โก (Argo Navis) หมาเล็ก (Canis Minor) หมาใหญ่ (Canis Major) นายพราน (Orion) สารถี (Auriga) และหมีใหญ่ (Ursa Major)

กลุ่มดาวทั้ง 24 กลุ่มเหล่านี้ใช้ไม้สนที่ไม่มีตาไม้ แกะสลักเป็นรูปนูนต่ำ ส่วนใหญ่ใช้ต้นแบบจากหนังสือ Prodromus Astronomiae พิมพ์ที่เมืองกดันสก์ (Gdansk) ประเทศโปแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) ซึ่งวาดโดยนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวโปแลนด์ ชื่อ โยฮันเนส เฮเวเลียส (Johannes Hevelius, 1611-1687) แต่หนังสือได้รับการตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว เฮเวเลียสสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสถึง 45 เมตรเพื่อใช้สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อาทิ การทำแผนที่ดวงจันทร์ การศึกษาจุดมืดบนดวงอาทิตย์ การสังเกตการณ์ดาวหาง และการจัดทำแผนที่ดาว

ดาวแต่ละดวงในกลุ่มดาวทั้ง 24 กลุ่มบนเพดานดาวนี้ได้บรรจุหลอดไฟที่มีกำลังส่องสว่างและขนาดที่สอดคล้องกับแสงของดาวบนท้องฟ้าจริง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มดาวที่อยู่นอกวงรีทั้ง 4 มุมอีก 22 กลุ่มเพื่อเพิ่มการส่องสว่างของเพดานดาวให้มากขึ้นดังนี้

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) ซีฟิอัส (Cepheus) ม้าบิน (Pegasus) กิ้งก่า (Lacerta) โลมา (Delphinus)

ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีกลุ่มดาวแมลงวัน (Musca) ปลาใต้ (Piscis Australis) นกยูง (Pavo) นกกระเรียน (Grus) แท่นบูชา (Ara) และมงกุฎใต้ (Corona Australis)

ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีกลุ่มดาวเฮอคิวลีส (Hercules) แคสซิโอเปีย (Cassiopeia) เพอร์ซิอัส (Perseus) มังกร (Draco) และดาวลูกไก่ (Pleiades)

ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีกลุ่มดาวนกกา (Corvus) นกเขา (Columba) คนครึ่งม้า (Centaurus) หมาป่า (Lupus) นกฟีนิกส์ (Phoenix) และกระต่ายป่า (Lepus)

            นอกจากบนเพดานห้องโถงของพระตำหนักแล้ว ยังโปรดให้ประดับภาพไม้แกะเป็นรูปกลุ่มดาวที่สำคัญหลายกลุ่มไว้ที่ราวไม้เฉลียงส่วนพระองค์ซึ่งทรงปลูกไม้ดอกเป็นแถวยาวตลอดเฉลียง และยังประดับภาพกลุ่มดาวไว้ที่พระทวารบางแห่งบนพระตำหนักดอยตุงอีกด้วย