รัชกาลที่ ๙ คือยุคทองของดาราศาสตร์ไทย

รัชกาลที่ ๙

คือยุคทองของดาราศาสตร์ไทย

ความเป็นมาของดาราศาสตร์ในเมืองไทยถึงสมัย ร. ๙

ข้อมูล

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ:

ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย

หนังสือในชุด พระมหากษัตริย์กับนักดาราศาสตรไทย

          นับตั้งแต่บาทหลวงเยสุอิตจากฝรั่งเศสนำองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์มาสู่สยามประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำให้ชาวสยามตั้งแต่ยุคนั้นมีโอกาสได้สัมผัสกับเครื่องมือดาราศาสตร์สมัยใหม่ เช่นกล้องโทรทรรศน์ เครื่องวัดมุมดาว นาฬิกาจับเวลา เป็นต้น รวมทั้งการสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญอันได้แก่จันทรุปราคาเต็มดวงและสุริยุปราคาเต็มดวง

ข้อมูล : กล้องดาราศาสตร์ (Astronomical Telescope) โดย ระวี ภาวิไล

https://www.narit.or.th/index.php/naru/exhibition/rawi-bhavila/telescope

          ต่อมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็นชาวสยามพระองค์แรกที่ทรงศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่ด้วยพระองค์เอง ทรงใช้องค์ความรู้ที่ทรงศึกษาจากดาราศาสตร์สมัยใหม่เหล่านี้และองค์ความรู้ที่พระองค์ทรงพัฒนาขึ้นโดยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ทรงดำเนินการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ในการคำนวณเวลาและสถานที่ของการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่นยำ ถือเป็นผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ที่สำคัญที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงทำไว้ หลังจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ต่อมาก็ทรงสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย โดยชาวต่างชาติเหล่านั้นได้มาสังเกตการณ์และทำวิจัยทางดาราศาสตร์ในช่วงการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เช่น การศึกษาโครงสร้างของบรรยากาศชั้นคอโรนาของดวงอาทิตย์ การศึกษาการเลี้ยวเบนของแสงดาวที่อยู่หลังดวงอาทิตย์อันเนื่องจากผลทางทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในช่วงเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เป็นต้น แต่ยังมีคนไทยในยุคนั้นเพียงน้อยคนที่ได้ศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์สมัยใหม่อย่างจริงจัง

          จวบจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาดาราศาสตร์เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนในเมืองโลซาน เนื่องจากความสนพระทัยส่วนพระองค์ทางด้านดาราศาสตร์ ประกอบกับสมเด็จพระราชชนนีทรงสนับสนุนโดยทรงจัดหาแผนที่ดาวและหนังสือดาราศาสตร์เพื่อทรงใช้สอนพระราชโอรส ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงรับสั่งว่า หากท่านไม่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ท่านทรงมีความปรารถนาจะเป็นนักดาราศาสตร์ และอยากมีหอดูดาวที่จังหวัดเชียงใหม่”

 

PP01

ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ

ทอดพระเนตรดาวศุกร์ตอนกลางวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2501

 

          เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังคงพระชนชีพท่านให้ความสนพระทัยในศาสตร์วิชาทุกแขนงและวิชาดาราศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในศาสตร์ที่พระองค์ท่านให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพราะราชดำเนินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 (1/3) นิ้ว ณ หอดูดาว ภาควิชาฟิสิกส์ ในขณะนั้นศาสตราจารย์ระวี ภาวิไล ได้ถวายงานและเล็งกล้องโทรทรรศน์ปยังดาวศุกร์ให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร ดาวศุกร์ตอนกลางวัน

 

PP07

ภาพจำลองลักษณะของดาวศุกร์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ได้ทรงทอดพระเนตร ณ เวลานั้น

 

          นอกจากวิชาดาราศาสตร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงรอบรู้วิทยาศาสตร์สาขาอื่น ด้านภูมิศาสตร์ ทรงศึกษาแผนที่อย่างละเอียด ทรงมีพระปรีชาญาณด้านคอมพิวเตอร์ พระองค์ทรงคิดค้นผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์เป็นอเนกประการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กังหันชัยพัฒนา และฝนหลวง

          ฝ่ายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเองก็ทรงมีความสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์มานานแล้ว
*สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงบันทึกในพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง เวลาเป็นของมีค่า ว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีสนใจดาราศาสตร์มานานแล้ว เมื่ออยู่ที่สหรัฐฯ เคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อลูกชายคนเล็ก (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนที่โลซาน แม่ซื้อหนังสือเรื่อง “Le Ciel (ท้องฟ้า)” ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ ในหนังสือเล่มนี้มีแผนที่ดาวและพระจันทร์อยู่ด้วย แม่เปิดหนังสือดูบ่อยจนแผนที่หลุดมาสามแผ่น แม่เลยเอาออกมาใช้ต่างหาก”

*พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  “เวลาเป็นของมีค่า”, 2530, หน้า 41

         

          ความสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีปรากฏให้เห็นได้จากพระปรีชาสามารถในการทรงถ่ายทอดความหมายของดวงดาวเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์กลุ่มดาวสำคัญที่แลเห็นง่ายหรือที่ทรงโปรดลงบนโคมไฟบ้าง ที่เขี่ยบุหรี่บ้าง ถ้วยชามบ้าง จานกระเบื้องเซรามิกบ้าง ซึ่งบ้างก็ทรงเขียนรูปดอกไม้แทนกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม มีจำนวนกลีบดอกและสีของดอกไม้แทนความสว่างของดวงดาว ซึ่งทางดาราศาสตร์เรียก “แมกนิจูด” หรือ “โชติมาตร”

 

PP02

 

          ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสนพระทัยศึกษาด้านดาราศาสตร์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ อีกยังมีพระบรมวงศ์หลายพระองค์ทรงสนพระทัยและสนับสนุนกิจกรรมด้านดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่การเรียนการสอนและการวิจัยทางดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดการพัฒนาอย่างใหญ่หลวง มีกิจกรรมทางดาราศาสตร์แพร่หลายในสังคมอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาบุคลากรด้านดาราศาสตร์ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์เพื่อการเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งการบริการวิชาการแก่ชุมชน ถือเป็นยุคสมัยสำคัญที่ดาราศาสตร์ไทยก้าวกระโดดสู่ระดับสากล

          หอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถด้านดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2501 เสด็จทอดพระเนตรดาวศุกร์ในเวลากลางวัน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ณ หอดูดาว ดาดฟ้าตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากบันทึกเหตุการณ์ข้อมูลของ ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล โดยจัดแสดงวัตถุประกอบจดหมายเหตุ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ณ อาคารท้องฟ้าจำลอง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2565 - กันยายน 2567