ขอบเขตการศึกษาและพัฒนาโครงการ

        การศึกษาและวิจัยที่จะเกิดจากโครงการแรงดี ( RANGD: Radio Astronomical Network and Geodesy for Development ) จะหมุนเปลี่ยนในสาขาต่าง ๆ ด้านล่างนี้

  • การศึกษากล้องโทรทรรศน์วิทยุและเครือข่าย VLBI (Very Long Baseline Interferometry) ครั้งแรกในประเทศไทย
  • Geodetic VLBI หรือ VLBI เพื่องานยีออเดซี เพื่อทำการหาตำแหน่งพิกัดความแม่นยำสูง ตัวแปรต่าง ๆ ของกรอบพื้นฐานอ้างอิงยีออเดซี และใช้ในติดตามผลทางธรณีวิทยา

12ขอบเขต fig1 vlbi

รูปที่ 1 แผนผังการทำงานด้วยเทคนิค VLBI

(ที่มา: https://www.gfz-potsdam.de/en/section/space-geodetic-techniques/topics/geodetic-and-astrometric-vlbi/)

  • เทคโนโลยีไมโครเวฟและดิจิตัลขั้นสูง
  • สิ่งก่อสร้างดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

1. หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (The Thai National Radio Observatory)

1.1 กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจานรับสัญญาณ 40 เมตร ที่มีเครื่องรับสัญญาณความถี่ 10-18 GHz และ 18-26GHz ด้วยการพัฒนาเครื่องรับสัญญาณ Quasi-optics tri-band ที่ 18-100 GHz

1.2 กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจานรับสัญญาณ 13 เมตร สำหรับการวิจัยทางยีออเดซี่ ด้วยการติดตามและบอกตำแหน่งจากเครื่องรับสัญญาณความถี่ 2-14 GHz ด้วยความเร็วเชิงมุมของกล้องสูงสุด 12 องศาต่อวินาที ตามแนวคิดการพัฒนา VLBI2010 และ VLBI Geodetic Observing System (VGOS, วีกอส)

1.3 สถานีฐานรับสัญญาณดาวเทียม GNSS (Global Navigation Satellite System) สำหรับใช้เป็นสถานีอ้างอิงทางตำแหน่ง เชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายสถานีฐานของประเทศไทย เข้ากับกรอบพื้นฐานอ้างอิงตำแหน่งสากล (International Terrestrial Reference Frame, ITRF)

1.4 ศูนย์บริการข้อมูลดาราศาสตร์วิทยุ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้แก่สาธารณชน

1.5 กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเล็ก 4.5 เมตร ซึ่งถือเป็นการนำร่องการพัฒนาเครื่องรับสัญญาณ และงานวิจัยทางดาราศาสตร์วิทยุของ สดร. (ตั้งอยู่ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)

2. ศูนย์วิศวกรรมขั้นสูง ประกอบด้วยห้องทดลองสำหรับการพัฒนาและซ่อมแซมอุปกรณ์ ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นมาสำหรับโครงการแรงดี เพื่อสนับสนุนงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 40 และ 13 เมตร อีกทั้งมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจในศาสตร์ทางวิศวกรรมขั้นสูง สำหรับการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและสาธารณะต่อไป

        หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติจะถูกสร้างขึ้น ในพื้นที่ของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (สัญญาณรบกวนน้อยและสามารถตรวจสอบได้ รายละเอียดเพิ่มเติมในห้วข้อ โครงการวิศวกรรม: 24hr RFI Monitoring Station)

12ขอบเขต fig2 map

รูปที่ 2 แผนที่แสดงตำแหน่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ทั้งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จัดสร้างสิ่งก่อสร้างดราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีขึ้น ณ บริเวณพื้นที่ส่วนพระองค์ 50 ไร่ ในศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ โดยอาคาร สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ไปจนกระทั่งกระบวนการก่อสร้าง และการขนส่ง ถูกออกแบบให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่น้อยที่สุด สังเกตได้จากการบันทึกความคืบหน้าของโครงการดังภาพด้านล่าง

นอกเหนือจากความร่วมมือระหว่าง สดร. และศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ในโครงการแรงดีแล้ว ยังมีงานด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศและธรณีฟิสิกส์ที่นักวิจัยจาก สดร. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะทำการศึกษา ณ บริเวณพื้นที่ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ เพราะในบริเวณศูนย์ฯ มีการติดตั้งสถานีตรวจอากาศ ที่ใช้ในการศึกษาชั้นบรรยากาศของโลกไว้อยู่แล้ว จึงสามารถทำวิจัยต่อยอดไปได้อีก ทั้งการหาความสัมพันธ์ระหว่าง การแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกและละอองลอย (Aerosol) สู่น้ำในดิน กับความชื้นของดิน อุณหภูมิ และการเปลี่ยนรูปร่างของผิวดิน, การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกเนื่องจากมีรอยเลื่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ไปจนถึงตัวแปรอื่น ๆ ทางวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และยีออเดซีของทั้งบริเวณ เพื่อเป็นการวินิจฉัยความเสี่ยงและป้องกันการเกิดภัยพิบัติ ที่จะก่อเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ ทรัพย์สิน หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในบริเวณด้วย

12ขอบเขต fig3 เปลี่ยนแปลง

รูปที่ 3 ภาพแสดงสภาพแวดล้อมของพื้นที่โครงการ ก่อนดำเนินโครงการ (เมษายน 2559) และหลังดำเนินโครงการ (ธันวาคม 2561)