เกี่ยวกับโครงการอบรมครูดาราศาสตร์ ขั้นสูง ปี 2566

MHESI logo narit  

อบรมการทำโครงงานดาราศาสตร์

โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ประจำปี 2566 

           

           

          ปัจจุบันนานาประเทศต่างยอมรับว่าดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ดาราศาสตร์สามารถดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัยให้ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามและความน่าอัศจรรย์ ดาราศาสตร์ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจเอกภพเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ ประโยชน์ของดาราศาสตร์ทางด้านการศึกษานอกจากจะทำให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในดาราศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดเยาวชนให้มีความสนใจใฝ่รู้ เสริมสร้างจินตนาการ และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในส่วนของประชาชนทั่วไปนอกจากความสวยงามของกลุ่มดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏ ให้เห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้ว ดาราศาสตร์ยังสามารถดึงดูดให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารปรากฏการณ์ต่าง ๆ เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ของคนในประเทศได้อีกด้วย

          การศึกษาวิชาดาราศาสตร์ในประเทศไทยได้ถูกบรรจุเนื้อหาไว้ในสาระการเรียนรู้ โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ  ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2551 วิชาดาราศาสตร์จึงถือว่าเป็น เรื่องใหม่สำหรับครูผู้สอนและเป็นวิชาที่ยังขาดแคลนครูที่มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ดังนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานทางด้าน ดาราศาสตร์ของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา จึงได้จัดให้มีโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขึ้น โดยแบ่งออกเป็นหลายระดับ คือ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ เกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ให้กับครูผู้สอน เพื่อนำไปพัฒนาสื่อและกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน

          สำหรับการอบรมการทำโครงงานดาราศาสตร์ ภายใต้โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้ครู ได้เรียนรู้ พัฒนาและเพิ่มทักษะการทำโครงงานทางด้านดาราศาสตร์ เกิดการสร้างเครือข่ายการทำโครงงานด้านดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน เพื่อก้าวไปสู่การทำโครงงานทางดาราศาสตร์ในระดับประเทศ และก้าวไปสู่เครือข่ายการทำโครงงานในระดับนานาชาติต่อไป

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ครู ได้เรียนรู้กระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำโครงงานทางดาราศาสตร์
  2. เพื่อให้ครู ได้เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์การทำโครงงานทางดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน
  3. เพื่อให้ครู ได้ฝึกทักษะการใช้งานอุปกรณ์ กล้องโทรทรรศน์ สำหรับการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์
  4. เพื่อให้ครู สามารถเป็นที่ปรึกษาโครงงานดาราศาสตร์ให้กับนักเรียนต่อไป
  5. ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถสร้างเครือข่ายการทำโครงงานดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียนและระดับประเทศได้

 

กลุ่มเป้าหมาย

         ครู ที่สอนในโรงเรียน สถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจการทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์ จำนวน 25 ท่าน

 

ขอบเขตเนื้อหาในการอบรม

            โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ประจำปี 2566 แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงที่ 1 : การทำโครงงานดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน ภายใต้โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ประจำปี 2566

          สำหรับการอบมจะเน้นให้ครูที่เข้าร่วมได้ศึกษาการทำโครงงานในหลากหลายรูปแบบ เรียนรู้และวางแผนการทำโครงงาน โดยก่อนจบการอบรม ครูที่เข้าร่วมจะต้องเสนอหัวข้อโครงงานที่สนใจ 1 โครงงาน อาจเป็นโครงงานที่ได้จากการอบรมหรือเป็นโครงงานที่สนใจ โดยต้องนำมาเสนอในการนำเสนอผลการศึกษาโครงงานในช่วงที่ 2 ต่อไป

โดยมีตัวอย่างโครงงานอย่างง่ายดังนี้

โครงงานการใช้กล้องโทรทรรศน์

    1. การหาความลึกของหลุมดวงจันทร์
    2. การหามวลดาวเคราะห์
    3. การหาความรีวงโคจรดวงจันทร์
    4. การหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ด้วยวิธีพารัลแล็กซ์

โครงงานการสังเกตการณ์ (ทั่วไป/ตามปรากฏการณ์)

    1. การหาความสูงของดาวตก
    2. การหาขนาดของโลกด้วยวิธีอีราธอสธีนีส
    3. การหาขนาดของโลกจากปรากฏการณ์จันทรุปราคา
    4. การหาความสว่างของท้องฟ้า Dark sky

โครงงานเกี่ยวกับการวัดแสงสว่าง

ปัจจัยดาวกระพริบ DSLR

โครงงานเกี่ยวกับ Data Analysis

การใช้งาน Software ทางดาราศาสาตร์สำหรับประมวลผลข้อมูล

หมายเหตุ : หัวข้อโครงงานอาจปรับเปลี่ยน โดยจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

สามารถศึกษาหัวข้อโครงงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.narit.or.th/.../training-advance-couse-menu

 

ช่วงที่ 2 : นำเสนอผลการศึกษาโครงงาน

          - สำหรับช่วงที่ 2 เป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงงานของครูที่เข้าร่วมอบรมการทำโครงงานในช่วงที่ 1 โดยเป็นการนำเสนอภายใน ครูที่เข้าร่วมอบรมในช่วงที่ 1 จะต้องศึกษาโครงงาน 1 โครงงานและนำผลการศึกษาโครงงานที่ได้มานำเสนอในช่วงที่ 2 ซึ่งอาจมีการซักถามในประเด็นที่สนใจจากครูท่านอื่นที่เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ร่วมถึงอาจให้คำแนะนำในการทำโครงงาน

 

ช่วงที่ 3 : การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 9

          สำหรับการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 9 ครูที่เข้าร่วมอบรมการทำโครงงาน จะต้องส่งโครงงานดาราศาสตร์เข้าร่วมการประชุมฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 โครงงาน ซึ่งครูจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงงานให้แก่นักเรียน โดยการนำเสนอผลงานวิชาการดาราศาสตร์ของนักเรียนจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบบรรยาย (Oral Presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) และโครงงานที่เข้าร่วมจะได้รับการพิจารณารับเหรียญรางวัล ประเภทเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง