การศึกษาวิจัยดาราศาสตร์จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หลายประเภท เช่น อุปกรณ์ทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ อุปกรณ์ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์บรรยากาศ เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในเทคโนโลยีอวกาศ ส่วนใหญ่ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศและมีราคาสูง
NARIT จึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิ้นงานความละเอียดสูง เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นงานกลความละเอียดสูงทดแทนการจัดซื้อ พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ให้สามารถออกแบบและพัฒนาการขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลที่ต้องการความละเอียดสูง มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 10-30 ไมครอน ผลิตชิ้นส่วนเครื่องกลและงานเครื่องกลขั้นพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยีการแต่งผิวชิ้นงาน เพื่อสนับสนุนงานวิจัยดาราศาสตร์ พัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และด้านอื่น ๆ ออกแบบและวิเคราะห์ความแข็งแรงทางวิศวกรรมของชิ้นงาน สามารถตรวจวัดคุณภาพชิ้นงานได้ที่ความละเอียดสูงสุด 0.5 ไมครอน และเป้าหมายในอนาคต คาดว่าจะผลิตงานที่มีค่าความละเอียดคลาดเคลื่อนไม่เกิน 10 ไมครอน
วัตถุประสงค์
1. พัฒนาชิ้นงานเชิงกลความละเอียดสูง เพื่อสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางดาราศาสตร์ ทดแทนการจัดซื้อ
2. เพิ่มศักยภาพการผลิตชิ้นงานเชิงกล เทคโนโลยีหรือเทคนิคใหม่ๆ เพื่อรองรับงานวิจัยในอนาคต
ลักษณะเฉพาะของผลงาน
- ชิ้นส่วนเชิงกลความละเอียดสูงที่ความคุมความผิดพลาดในระดับ 10 ไมครอนเมตร
- ชิ้นส่วนเชิงกลที่ใช้ในดาวเทียม
- ชิ้นส่วนเชิงกลสำหรับอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ควบคุมความผิดพลาดในระดับ 10 ไมครอนเมตร
- ชิ้นส่วนเชิงกลเกี่ยวกับการสะท้อนของแสง มีความเรียบผิวระดับต่ำกว่า 1 ไมครอนเมตร
บริบทในท้องตลาด
ชิ้นงานเชิงกลส่วนมากไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
การต่อยอดนวัตกรรม/ ขยายผลเชิงพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรม
ศักยภาพผลิตชิ้นงานเชิงกลที่เป็นชิ้นส่วนเฉพาะทางที่มีความละเอียดสูง และมีลักษณะการขึ้นรูปชิ้นงานที่ซับซ้อน สามารถต่อยอดไปผลิตชิ้นงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศ อุตสาหกรรมตัวรับสัญญาณความถี่วิทยุ อุตสาหกรรมกระจกเชิงแสง เป็นต้น