ข่าวดาราศาสตร์


Europa Clipper บินเฉียดดาวอังคารได้สำเร็จ 
เตรียมตัวเข้าเฉียดโลกต่อในปี 2026 ก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดี

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2025 ยาน Europa Clipper เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 88,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเฉียดเข้าใกล้ดาวอังคารมากที่สุดที่ระยะ 884 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “Gravity assist” ครั้งแรก เป็นการใช้แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารในการปรับทิศทางและวิถีการโคจร ซึ่งขณะนี้เป็นวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ จากนั้นยานจะโคจรเข้ามาเฉียดโลก ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2026 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ gravity assist ครั้งที่สอง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกในการปรับวิถีการโคจรครั้งสุดท้าย ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดีในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2030

ยาน Europa Clipper บินเฉียดดาวอังคารได้สำเร็จ

“Gravity assist” หรือการโฉบเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์ เป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์และทีมวิศวกร ใช้ในการปรับทิศทางและเพิ่มความเร็วของยานอวกาศโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ ซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและลดระยะเวลาในการเดินทาง เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้กับยานสำรวจทั้งในระบบสุริยะชั้นในและชั้นนอก เช่น Voyager 1 และ Voyager 2 อย่างไรก็ตาม การใช้ gravity assist ต้องอาศัยการคำนวณและกำหนดเส้นทางโคจรของยานอย่างแม่นยำ เพื่อให้สัมพันธ์กับตำแหน่งของดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ทีมควบคุมต้องใช้เครื่องยนต์ของยานเพื่อปรับวิถีการโคจร (Trajectory Correction Maneuvers) ให้ยานอยู่ในเส้นทางที่กำหนดและเข้าใกล้ดาวเคราะห์ได้มากที่สุด 

ยาน Europa Clipper บรรทุกน้ำหนักรวม 6 ตัน และจะเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดีเป็นระยะทางกว่า 2,900 ล้านกิโลเมตร การใช้เทคนิค gravity assist ช่วยให้ยานประหยัดเชื้อเพลิง ลดน้ำหนักส่วนจรวดขับเคลื่อน และลดค่าใช้จ่ายของภารกิจได้อย่างมาก อีกทั้งการ gravity assist กับดาวอังคาร ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทดสอบกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal imager) ของยาน ซึ่งจะเก็บข้อมูลของดาวอังคารและประมวลผลจริงก่อนที่จะไปถึงดวงจันทร์ยูโรปา รวมถึงการทดสอบอุปกรณ์เรดาร์ความละเอียดสูง ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกที่อุปกรณ์ทุกส่วนของยานได้ทดสอบการทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมของอวกาศ
 
Europa Clipper จะเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดีเพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ยูโรปา โดยมีภารกิจหลักคือ การระบุความหนาของเปลือกน้ำแข็ง การสำรวจองค์ประกอบของมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็ง และศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ยูโรปา ซึ่งการศึกษานี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงความเป็นไปได้ทางชีวดาราศาสตร์ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อาจเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : NASA’s Europa Clipper Uses Mars to Go the Distance - NASA