ข่าวดาราศาสตร์


ครบรอบ 150 ปี คราสแหลมเจ้าลาย
สุริยุปราคาเต็มดวง 6 เมษายน พ.ศ.2418 
สมัยรัชกาลที่ 5 เหนือน่านฟ้าสยาม

 
จากสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2411 สู่ พ.ศ.2418

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ.2401 - 2500) เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยอยู่ 4 ครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ. 2411
(รัชกาลที่ 4), 2418 (รัชกาลที่ 5), 2472 (รัชกาลที่ 7) และ 2498 (รัชกาลที่ 9)

ซึ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 อาจเป็นครั้งที่พวกเราคุ้นเคยกันมากที่สุด เนื่องด้วยเป็นปรากฏการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงคำนวณเอาไว้อย่างแม่นยำ ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งยังเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ”
ได้ตามเสด็จร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้เช่นเดียวกัน 

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411 แล้ว ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง
เหนือแผ่นดินสยาม ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2418 ซึ่งมีแนวคราสเต็มดวง (แนวพื้นที่ที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่าน สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้) พาดผ่านตั้งแต่มหาสมุทรอินเดีย เมียนมา ไทย  ลาว เวียดนาม และมหาสมุทรแปซิฟิก โดยแนวคราสเต็มดวงพาดผ่านพื้นที่ในประเทศไทยจากจังหวัดเพชรบุรี ผ่านกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ ไปจนถึงอำนาจเจริญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ได้ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงถึง 2 ครั้งด้วยกัน

01 แผนที่แนวคราสเต็มดวงในสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418
ภาพแผนที่แนวคราสเต็มดวงในสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 ที่พาดผ่านประเทศไทย
 
การเดินทางมาสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงของนักดาราศาสตร์ต่างชาติในสยาม พ.ศ.2418

ในช่วงศตวรรษดังกล่าวเป็นช่วงที่คณะนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์จากชาติตะวันตก เดินทางมาทางเรือพร้อมบรรทุกอุปกรณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ไปสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในทวีปต่าง ๆ เพื่อศึกษาองค์ประกอบของบรรยากาศดวงอาทิตย์ ที่สามารถสังเกตได้เฉพาะช่วงเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่นานเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น 

นักดาราศาสตร์จากชาติตะวันตกเหล่านี้วางเป้าหมายถึงพื้นที่สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงมาล่วงหน้าแล้ว เพราะนักดาราศาสตร์ตะวันตกได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ก่อนแล้ว และตีพิมพ์ข้อมูลลงตามปฏิทินข้อมูลและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ (Astronomical almanac)

ภาพวาดแผนที่แนวคราสเต็มดวงและคราสบางส่วน
ภาพวาดแผนที่แนวคราสเต็มดวงและคราสบางส่วน (แนวที่เงามืดและเงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน) ในสุริยุปราคาเต็มดวง 6 เมษายน พ.ศ.2418

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระอักษรเชิญนักดาราศาสตร์จากชาติต่าง ๆ ในยุโรป ให้เดินทางมาตั้งสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในสยาม และจะทรงรับเป็นพระราชอาคันตุกะ (แขกบ้านแขกเมือง) พร้อมให้ทางขุนนางข้าราชการสยามอำนวยความสะดวกแก่คณะนักดาราศาสตร์ชาวยุโรป เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม  เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า และพระยาสุรินทรฤาไชย (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรีในขณะนั้น เป็นต้น

04 หอคอยที่กัปตันอัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส สร้างไว้
ภาพหอคอยที่กัปตันอัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส (Captain Alfred John Loftus / พระนิเทศขลธี) นายทหารเรืออังกฤษที่รับราชการในราชนาวีสยามสร้างไว้ อาจเพื่อเป็นจุดหมายให้เห็นได้จากระยะไกล เพื่อบ่งชี้พื้นที่ตั้งสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เรือนพักนักดาราศาสตร์และที่พักสำหรับคณะของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ 

ชาติยุโรปที่ส่งคณะนักดาราศาสตร์มาสังเกตการณ์สุริยุปราเต็มดวง เมษายน พ.ศ. 2418 คือ อังกฤษกับฝรั่งเศส โดยราชบัณฑิตยสมาคมอังกฤษ (Royal Society) ได้รวบรวมคณะสำรวจและนักดาราศาสตร์ เดินทางแยกกันไปสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง 2 แห่ง ได้แก่ หมู่เกาะนิโคบาร์ในอ่าวเบงกอล (อยู่ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และบริเวณแหลมเจ้าลาย (“แหลมเจ้าลาย” ปัจจุบันคือแหลมผักเบี้ย ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมืองเพชรบุรี) ส่วนคณะนักดาราศาสตร์ของฝรั่งเศสเดินทางตามมาสมทบที่แหลมเจ้าลายเพียงที่เดียว

05 อุปกรณ์ไซเดอโรสแตต (siderostat)
ภาพอุปกรณ์ไซเดอโรสแตต (Siderostat) สำหรับติดตามตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์และสะท้อนแสงอาทิตย์สู่อุปกรณ์วัดสเปกตรัมที่อยู่ในเรือนข้างหลัง
อุปกรณ์เหล่านี้ที่ติดตั้งบริเวณสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคา ณ แหลมเจ้าลาย แขวงเมืองเพชรบุรี โดยสมาชิกคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ
06 ภาพจากนิตยสาร Illustrated London News
ภาพวาดแสดงหอสังเกตการณ์กลาง ของสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคา ณ แหลมเจ้าลาย สำหรับติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เพื่อสังเกตการณ์สุริยุปราคา
07 ภาพถ่ายคณะผู้สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 จากอังกฤษ
ภาพถ่ายคณะผู้สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 จากอังกฤษ ณ หอสังเกตการณ์กลางของสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคา
พร้อมกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เพื่อสังเกตการณ์สุริยุปราคา
08 ภาพถ่ายหมู่ของคณะผู้สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 ทั้งชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และสยาม
ภาพถ่ายหมู่ของคณะผู้สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ. 2418 ทั้งชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และสยาม
ณ หอสังเกตการณ์กลางของสถานีสังเกตการณ์สุริยุปราคา แหลมเจ้าลาย จ. เพชรบุรี
 
ความสนใจและการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ต่อสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 ของผู้คนชาวสยาม

ในระหว่างที่คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ “สมาคมสยามหนุ่ม” (Young Siam) กลุ่มของพระราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้ที่ต้องการปฏิรูปสยามตามแบบตะวันตก ได้เชิญมาบรรยายวิชาการด้านดาราศาสตร์เรื่องการวิเคราะห์สเปกตรัมดวงอาทิตย์และการประยุกต์ใช้ในขณะสังเกตการณ์สุริยุปราคา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงโปรดให้ นายฟรานซิส จิต (หลวงอัคนีนฤมิตร) ชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกส ช่างภาพหลวง และ
ช่างภาพมืออาชีพคนแรกของสยาม ที่เคยถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ ในปี พ.ศ. 2411 มาช่วยงานคณะนักดาราศาสตร์อังกฤษด้านการถ่ายภาพ หลวงอัคนีนฤมิตรจึงเป็นอีกหนึ่งในคนสยามเพียงไม่กี่คนที่ได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงจากบริเวณกึ่งกลางคลาส ทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 

ส่วนในกรุงเทพฯ ที่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ. 2418 ได้เช่นกันนั้น มีการตั้งกล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระบรมมหาราชวัง มีการสเก็ตช์ภาพจากลักษณะปรากฏของสุริยุปราคา
เต็มดวงครั้งนี้ด้วย ทั้งจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

09 ภาพวาดสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 ฝีพระหัตถ์ร.5
ภาพวาดสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 ฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงเปลวสุริยะหรือพวยแก๊ส (Solar prominence)
ซึ่งเป็นแก๊สที่พุ่งจากบรรยากาศดวงอาทิตย์ชั้นโครโมสเฟียร์ออกมา
10 ภาพวาดสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
ภาพวาดสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2418 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่)
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงชั้นโคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ ในจิตรกรรมฝาผนังแสดงพระราชพิธี 12 เดือนในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม (วัดราชประดิษฐ์) เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีภาพวาดแสดงพระมหากษัตริย์สยามทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ในหมู่
พระมหามณเฑียรของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ทอดพระเนตรสุริยุปราคา
เต็มดวง พ.ศ.2418

ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ แสดงพระมหากษัตริย์สยามทอดพระเนตรสุริยุปราคา (ปรากฏเป็นดวงมืดด้านบนของภาพ)
ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ณ หน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

ที่มาของข้อมูลอ้างอิงเนื้อหา
- https://eclipsewise.com/solar/SEprime/1801-1900/SE1875Apr06Tprime.html
- หนังสือ “จดหมายเหตุดาราศาสตร์สยามประเทศ รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8” โดยวิษณุ เอื้อชูเกียรติ, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- https://eclipse-maps.com/Eclipse-Maps/History/History.html
- https://www.slideshare.net/slideshow/6-april-1875-total-solar-eclipse-at-grand-palace/228217214#3
- https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-3-030-62777-5_9