ข่าวดาราศาสตร์


รู้จักกับดาวหาง SWAN หรือ C/2025 F2 (SWAN)
ดาวหางดวงใหม่ที่กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

ดาวหาง C/2025 F2 (SWAN) หรือ ดาวหาง SWAN ถูกค้นพบโดย Vladimir Bezugly ชาวยูเครน และ Michael Mattiazzo ชาวออสเตรเลีย ทั้งคู่ต่างค้นพบดาวหางดวงนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน และได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2025 โดยดาวหางดวงนี้กำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และอาจมีความสว่างมากเพียงพอจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้

Swan F2 April 6 2025 M Jaeger St

ขณะนี้ดาวหาง SWAN มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 7-8 ซึ่งยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (อันดับความสว่างปรากฏ ยิ่งตัวเลขน้อย-ยิ่งสว่าง ยิ่งตัวเลขมาก-ยิ่งริบหรี่) และดาวหางจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 จะเป็นช่วงที่ดาวหางได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์สูงที่สุด และอาจทำให้ความสว่างของดาวหางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หากดาวหางสามารถรอดพ้นออกมาจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงและรังสีอันรุนแรงของดวงอาทิตย์ออกมาได้ ดาวหาง SWAN ก็อาจจะมียิ่งความสว่างมากขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากไม่สามารถรอดพ้นออกมาได้ ดาวหาง SWAN ก็จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ และกลายเป็นเพียงเศษหินและน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป

ช่วงนี้ดาวหางอยู่บริเวณกลุ่มดาวม้าปีก (Pegasus) ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งดาวหางจะค่อย ๆ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เคลื่อนออกจากกลุ่มดาวม้าปีก และเข้าสู่ตำแหน่งที่จะขึ้น-ตกพร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์ในช่วงประมาณวันที่ 18-25 เมษายน ช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ไม่สามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้

Screenshot 2568 04 11 at 13.49.20

จากนั้นดาวหางจะเคลื่อนผ่านระหว่างกลุ่มดาวแกะ (Aries) และกลุ่มดาวเพอร์ซีอุส (Perseus) โดยมีทิศทางเข้าสู่กลุ่มดาววัว (Taurus) และตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนเป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ซึ่งช่วงนี้เองที่เป็นช่วงที่น่าติดตามว่า ดาวหางจะมีความสว่างสูงสุดได้มากน้อยแค่ไหน

Screenshot 2568 04 11 at 13.49.29

ดาวหาง SWAN มีค่าความรีวงโคจรเท่ากับ 0.999 หมายความว่าเป็นวงโคจรที่มีความรีสูงมาก และจากการคำนวณพบว่า ดาวหางดวงนี้มีคาบการโคจรประมาณ 1.4 ล้านปี นั่นหมายความว่า หากเราพลาดรับชมดาวหาง SWAN ในครั้งนี้ ในช่วงชีวิตของเราก็จะไม่มีโอกาสได้รับชมมันอีกแล้วนั่นเอง

มาร่วมติดตามกันว่า ดาวหางดวงนี้จะสว่างได้มากพอให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ไทยได้หรือไม่ และการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม จะทำให้ดาวหางทวีคูณความสว่างขึ้น หรืออาจจะแตกสลายกลายเป็นเพียงเศษฝุ่น สามารถติดตามอัพเดทดาวหาง SWAN ดวงนี้ ได้ที่เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

อ้างอิง : [1] https://earthsky.org/space/new-comet-swan25f...
[2] https://theskylive.com/c2025f2-info 
[3] https://cobs.si/comet/2619/ 

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.