ข่าวดาราศาสตร์
สุขสันต์วันเกิด “ฮับเบิล”
เฉลิงฉลองครบรอบ 35 ปี ด้วยภาพกระจุกดาว NGC 345
เฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ด้วยภาพกระจุกดาว “NGC 346” ที่เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับ ท่ามกลางกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นที่ดูสวยงามตระการตา

NGC 346 เป็นกระจุกดาวอายุน้อย (young star cluster) ที่อยู่ในกาแล็กซีเมฆแมคเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) ห่างจากโลกประมาณ 200,000 ปีแสง ในกลุ่มดาวนกทูแคน (Tucana) ภายในกระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์เกิดใหม่กว่า 2,500 ดวง ดาวฤกษ์มวลมากที่สุดมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า เปล่งแสงสีฟ้ากระจายทั่วทั้งเนบิวลา บริเวณพื้นที่สีชมพูและแถบเมฆสีเข้มคือรูปร่างของเนบิวลาแห่งนี้ เกิดจากกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่หนาแน่น และถูกปัดเป่าโดยดาวฤกษ์เกิดใหม่พลังงานสูง ทำให้เนบิวลาแห่งนี้มีรูปร่างที่งดงามตระการตา
จากการศึกษาพบว่า กระจุกดาว NGC 346 ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ และมีองค์ประกอบของธาตุหนักน้อยมากเมื่อเทียบกับกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับกาแล็กซีที่เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของเอกภพ
แม้ว่าภาพ NGC 346 จะเคยถูกเผยแพร่จากทั้งกล้องฮับเบิลและรวมถึงกล้องเจมส์ เว็บบ์ มาแล้วก็ตาม แต่ภาพเก่าที่นำมาเล่าใหม่นี้ เป็นการผสานข้อมูลในช่วงคลื่นอินฟราเรด (infrared) แสงที่ตามองเห็น (optical) และอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) เข้าด้วยกัน ผ่านกระบวนการและเทคนิคการประมวลผลแบบใหม่ ช่วยให้เห็นรายละเอียดพื้นที่ก่อตัวดาวฤกษ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลของกล้องฮับเบิล 2 ชุด จากการสังเกตการณ์ในช่วงเวลาที่ห่างกัน 11 ปี ในการศึกษาและติดตามการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์เกิดใหม่ พบว่าดาวฤกษ์เหล่านี้กำลังเคลื่อนที่หมุนวนเป็นเกลียวรอบศูนย์กลางของกระจุกดาว ซึ่งเกิดจากกระแสแก๊สจากภายนอกที่ไหลวนเข้าสู่บริเวณใจกลางและสร้างความปั่นป่วนในกระจุกดาว
ดาวฤกษ์เกิดใหม่มวลมากที่อยู่ภายในเนบิวลา จะแผ่รังสีพลังงานสูงออกมารอบ ๆ ส่งผลให้แก๊สไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบหลักของเนบิวลา แตกตัวออกเป็นไอออน จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “HII region” ซึ่งการพบพื้นที่ HII แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลมากและมีอุณหภูมิสูง ที่สามารถแผ่รังสีรุนแรงระดับนี้ได้ โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวฤกษ์อายุน้อยเหล่านี้มีอายุเพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น
ภาพนี้เป็นหนึ่งในหลายภาพที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1990 ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา กล้องฮับเบิลได้เปิดประตูสู่ความรู้ใหม่ ๆ ทางดาราศาสตร์ให้แก่มนุษยชาติ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีและกล้องสำรวจรุ่นใหม่ ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้วและกำลังจะถูกส่งขึ้นไปอีกหลายภารกิจในอนาคต แต่ข้อมูลจากกล้องฮับเบิลยังคงเป็นฐานข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับการศึกษาทางดาราศาสตร์ และปัจจุบันกล้องฮับเบิลยังคงปฏิบัติภารกิจในการไขปริศนาและสร้างความท้าทายของเอกภพต่อไป
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง [1] https://science.nasa.gov/missions/hubble/hubble-spots-stellar-sculptors-in-nearby-galaxy/
[2] https://science.nasa.gov/mission/hubble/hubble-news/hubble-social-media/35-years-of-hubble-images/