ข่าวดาราศาสตร์


ยานลูซีของ NASA ถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสันจากระยะใกล้

ยานลูซีของ NASA ที่กำลังมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดี เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจันในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ได้ถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน (52246 Donaldjohanson) ซึ่งเป็นเป้าหมายดวงที่ 2 ที่ยานลูซีจะบินเฉียดเข้าใกล้

Web โดนัลด์โจแฮนสัน

ยานลูซีถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 2021 ใช้เวลาเดินทาง 12 ปี ไปยังวัตถุเป้าหมายดวงสุดท้ายในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี (จากวัตถุเป้าหมายทั้งหมด 7 ดวง) ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 5 ดวงที่ยานลูซีจะสำรวจ เป็นสมาชิก “กลุ่มโทรจันของดาวพฤหัสบดี” (Jupiter’s Trojans) ที่เป็นเศษซากหลงเหลือจากช่วงแรกเริ่มของระบบสุริยะ และมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ซ้อนทับกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี โดยกลุ่มหนึ่งโคจรนำหน้าดาวพฤหัสบดี อีกกลุ่มโคจรตามหลังดาวพฤหัสบดี และภารกิจนี้เป็นการส่งยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจันเป็นครั้งแรก 

เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน ค.ศ. 2025 ระหว่างที่ยานลูซีกำลังเดินทางผ่านแถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) ที่อยู่ระหว่างดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ยานลูซีได้เฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน ที่ระยะห่าง 960 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาว โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ถูกตั้งชื่อตาม Donald Johanson นักบรรพมานุษยวิทยาชาวสหรัฐฯ ผู้ร่วมค้นพบ “ลูซี” ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในวงศ์ลิงใหญ่ที่ภาคเหนือของเอธิโอเปีย ในปี ค.ศ. 1974

ภาพถ่ายก่อนหน้านี้จากยานลูซี แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสันมีความสว่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคาบชัดเจน บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์น้อยมีรูปร่างที่เรียวยาว ซึ่งเมื่อดาวเคราะห์น้อยหมุนรอบตัวเอง ก็จะทำให้พื้นที่ผิวในการสะท้อนแสงเปลี่ยนแปลงไป  และภาพถ่ายล่าสุดจากยานลูซีในช่วงที่ยานเฉียดใกล้ก็ช่วยยืนยันรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยได้อย่างชัดเจนตามที่คาดการณ์ไว้ และดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจเคยเป็นวัตถุขนาดเล็ก 2 ชิ้น ที่มาเชื่อมต่อกลายเป็นชิ้นเดียวกัน 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น พบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นเศษชิ้นส่วนจากการพุ่งชนเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน มีขนาดยาว 8 กิโลเมตร กว้าง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าที่นักดาราศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากขนาดปรากฏของดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน ใหญ่กว่าขอบเขตพื้นที่มุมมองในภาพถ่ายจากกล้องของยานลูซี ดังนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการรวมข้อมูลภาพที่เหลือจากยาน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพที่ครอบคลุมดาวเคราะห์น้อยทั่วทั้งดวงและแสดงรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยได้ดีขึ้น

“ภาพถ่ายช่วงแรก ๆ ของดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน แสดงถึงขีดความสามารถของยานลูซี” Tom Statler นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการในภารกิจยานลูซี จากสำนักงานใหญ่ของ NASA ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว “เมื่อยานเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มโทรจัน ศักยภาพของยานลูซีจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของระบบสุริยะของเราได้ดีขึ้น” 

หลังจากการเฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน ยานลูซีจะเคลื่อนออกจากแถบดาวเคราะห์น้อย มุ่งหน้าสู่กลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี โดยจะเฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจันดวงแรก คือ ดาวเคราะห์น้อยยูไรบาทีส (Eurybates) และดาวเคราะห์น้อยบริวารเกตา (Queta) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2027

แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ที่มาของข่าว : https://www.space.com/the-universe/asteroids/nasas-lucy-probe-captures-1st-close-up-images-of-asteroid-donaldjohanson-revealing-strikingly-complicated-geology