ข่าวกิจกรรม


อว. นำทัพ NARIT และ GISTDA ร่วมงานวันอวกาศแห่งชาติจีน 2025 ที่เซี่ยงไฮ้
ประกาศอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ไทยได้คัดเลือกเข้าร่วมภารกิจฉางเอ๋อ 8
เตรียมส่งสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ปี 2029

24 เมษายน 2568 - สาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงฯ ร่วมงานวันอวกาศแห่งชาติจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ จัดโดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) ในปีนี้ไทยรับเชิญให้เป็นประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ภายใต้ความร่วมมือไทยจีน พร้อมประกาศอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้ร่วมในโครงการฉางเอ๋อ 8 เตรียมส่งลงสำรวจพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2029

492810057 1083514200485788 6171193514148898708 N

พิธีเปิดงานจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 24 เมษายน 2568 ณ Shanghai World Expo Center มีศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นผู้แทนประเทศไทย ร่วมกล่าวในพิธีเปิดงานว่า ในนามของประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี วันอวกาศแห่งชาติจีน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับองค์การอวกาศแห่งชาติจีน ในการพัฒนาเครื่องมือวิจัย MATCH (Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope) ซึ่งจะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ 7 (Chang’e-7) เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมดวงจันทร์ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในเวทีอวกาศนานาชาติ และนับเป็นผลงานชิ้นแรกของนักวิจัยไทยในภารกิจสำรวจห้วงอวกาศลึก ความร่วมมือครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีนในวาระครบรอบ 50 ปีทางการทูต แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย วิศวกร และเยาวชนรุ่นใหม่ในการร่วมกันสำรวจอวกาศเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

493861375 1083514180485790 147593699441730561 N

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับภารกิจสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึก (International Lunar Research Station: ILRS) ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมภารกิจฉางเอ๋อ 8 (Chang’e-8) เตรียมส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ALIGN (Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons) เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ที่จะส่งขึ้นไปกับยานลงจอดบนพื้นผิว ณ บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2029 อุปกรณ์นี้จะทำการตรวจวัดการแผ่รังสีของอนุภาคคอสมิกพลังงานสูง รวมถึงนิวตรอนอัลบีโด (Albedo neutron) เพื่อวัดนิวตรอนที่ปลดปล่อยออกมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวของดวงจันทร์กับรังสีคอสมิก ปริมาณนิวตรอนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งบอกได้ถึงอันตรายจากรังสีที่นักบินอวกาศอาจจะต้องพบระหว่างการสำรวจดวงจันทร์ หรือการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ของมนุษย์ในอนาคต

493394465 1083516647152210 8820798814266585035 N

ข้อมูลที่ได้รับทั้งจากวงโคจรในภารกิจฉางเอ๋อ 7 และ บนพื้นผิวในภารกิจฉางเอ๋อ 8 นี้ จะนำมาผสานรวมกัน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจปริมาณรังสีต้นกำเนิด และกระบวนการเกิดรังสีที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคตได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรดวงจันทร์ที่อาจนำไปใช้สนับสนุนโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึกในระยะยาว

งานวันอวกาศแห่งชาติจีนตรงกับวันที่ 24 เมษายน ของทุกปี ในปีนี้จัดขึ้น ณ นครเซี่ยงไฮ้สาธารณรัฐประชาชนจีน ปีนี้นับเป็นการครบรอบ 10 ปีของ "วันอวกาศจีน" จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ดวงจันทร์สว่างขึ้นเหนือทะเล ดวงดาวส่องแสงเต็มฟ้า” สื่อความหมายถึง การที่มนุษยชาติร่วมแบ่งปันความสำเร็จในการสำรวจอวกาศ และสะท้อนแนวคิดของจีนในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และส่งเสริมการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน มีผู้แทนประเทศต่าง ๆ และองค์กรอวกาศจากนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 41 ประเทศ โดย CNSA ได้เชิญ “ประเทศไทย” ให้เป็นประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) ในงานวันอวกาศแห่งชาติปีนี้ ซึ่งได้นำศิลปวัฒนธรรมไทย “การแสดงโขน” ถ่ายทอดเรื่องราว รามเกียรติ์ และฉางเอ๋อแห่งจันทรา โดย มทร. รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเฉพาะช่าง มาแสดงในงานด้วย

492690364 1083514343819107 1616561834766149002 N 493736796 1083514253819116 2246010745278645616 N

กิจกรรมหลัก นอกจากพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีการจัดประชุมนานาชาติด้านอวกาศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2568  ซึ่งมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือด้านอวกาศระดับโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในงานประชุมดังกล่าว ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “Astronomy-Space Technologies and Human Capacity’s Roles in Tackling Climate Challenges - เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์และอวกาศ กับการท้ายทายความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” 

492694751 1083518707152004 6485425456133786683 N

สำหรับนิทรรศการของประเทศไทย จัดแสดงในนามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สองหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านดาราศาสตร์ และอวกาศของไทยร่วมดำเนินการ แบ่งเป็น นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงอุมถัมภ์ และทรงผลักดันความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างประเทศไทยและจีนให้เกิดขึ้นในหลายโครงการสำคัญ และได้จัดแสดงผลงานจากโครงการเหล่านั้น อาทิ โครงการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการสำรวจอวกาศห้วงลึก จัดแสดงอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยที่เข้าร่วมในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 และ 8 ของจีน การเข้าร่วมเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very-long-baseline interferometry: VLBI) ของจีน และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VGOS ของไทย-จีน ความร่วมมือกับจีนในด้านการสำรวจระยะไกลและเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (SCGI) โครงการ THEOS-2 และบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วในต่างประเทศรายแรก ความพยายามเหล่านี้ร่วมกันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมอวกาศ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนฃ

494105700 1083518463818695 2556607055808369267 N

นิทรรศการวิทยาศาสตร์อวกาศเนื่องในวันอวกาศแห่งชาติจีนนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2568 ณ Shanghai World Expo Exhibition & Convention Center บนพื้นที่กว่า 17,000 ตร.ม. มีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ ครั้งแรกของการจัดแสดงตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ด้านใกล้และด้านไกลพร้อมกัน โดยเป็นดินดวงจันทร์ที่เก็บกลับมาด้วยยานฉางเอ๋อ 5 และ 6 นิทรรศการด้านการสำรวจอวกาศแบบ interactive และการจัดแสดงผลงานของหน่วยงานด้านอวกาศในจีนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศอวกาศอันเข้มแข็งของจีน รวมถึงเผยแผนภารกิจอวกาศปี 2025 เช่น ภารกิจเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยโดยเทียนเวิ่น-2 และภารกิจส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศผ่านยานเสินโจว 20 เป็นต้น